วช. ร่วมกับ ศสอ. มุ่งจัดการขยะอย่างเป็นระบบด้วยวิจัยและนวัตกรรม

วช. ร่วมกับ ศสอ. มุ่งจัดการขยะอย่างเป็นระบบด้วยวิจัยและนวัตกรรม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดตัวการขับเคลื่อนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบด้วยวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ “แผนงานวิจัยท้าทายไทย: การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน ระยะที่ 2 และการศึกษาข้อมูลขยะมูลฝอยในประเทศไทย”

มื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดตัวการขับเคลื่อนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบด้วยวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ “แผนงานวิจัยท้าทายไทย: การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน ระยะที่ 2 และการศึกษาข้อมูลขยะมูลฝอยในประเทศไทย”  ณ ห้อง Jamjuree Ballroom A ชั้น M โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดงานเปิดตัวแผนงานโครงการวิจัยดังกล่าว โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการ ศสอ. และทีมวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยดังกล่าว พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนาวิชาการผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และแนวทางการดำเนินงานต่อไป

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการ วช. รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า ทุกวันนี้ “การจัดการขยะ” เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนัก โดยเฉพาะการทิ้งขยะ เรายังพบว่ามีการทิ้งขยะอันตรายรวมกับขยะทั่วไป วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมที่เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วน ซึ่งประเด็นการจัดการขยะให้ถูกวิธีเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ จึงมอบหมายให้ ศสอ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินงานใน “แผนงานวิจัยท้าทายไทย : การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน” โดยการบูรณาการข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเพื่อให้เกิดการจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งต้องอาศัยงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นองค์ประกอบสำคัญร่วมกับความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ด้วยโมเดลแซนด์บอกซ์ (Sand Box) เพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ นำไปสู่การต่อยอดผลงานวิจัยสู่การนำไปใช้จัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและสอดรับกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง “การศึกษาข้อมูลขยะมูลฝอยในประเทศไทย” ได้ต่อยอดขยายผลด้วยการกำหนดแผนงานให้ครอบคลุมการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทำให้เกิดการรวบรวมข้อมูลจนเกิดเป็นฐานข้อมูลด้านการจัดการขยะที่ครอบคลุมทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของเสียอันตรายชุมชน และขยะมูลฝอยอย่างครบถ้วนและมีความน่าเชื่อถือ วช. มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเน้นให้เกิดปัจจัยเร่งสำคัญในการวางแผน “การจัดการขยะ” ด้วยการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการลดภาระผลกระทบที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมจากปัญหามลพิษต่าง ๆ ในระยะยาวตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยแนวทางการใช้ประโยชน์ของเสียโดยการหมุนเวียนทรัพยากรที่ยังมีประโยชน์กลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุดแทนการนำไปกำจัดทิ้งเพียงอย่างเดียวตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชนอย่างเหมาะสมและถูกวิธี อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่สอดรับกับบริบทของประเทศไทย


Print
Tags: