วช. ร่วมกับกระทรวงคมนาคมและภาคีเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 8 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ ‘ความปลอดภัยทางถนน’ เพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิต ณ จังหวัดสกลนคร

  • 15 December 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 265
วช. ร่วมกับกระทรวงคมนาคมและภาคีเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 8 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ ‘ความปลอดภัยทางถนน’ เพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิต ณ จังหวัดสกลนคร

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี
รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยนายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม และคณะผู้ทรงคุณวุฒิของ วช. ประกอบด้วย ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล รศ.ศรัณย์ วรรธนัจฉริยา
รศ.เอกพร รักความสุข นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ นายธงชัย พงษ์วิชัย และ ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนระดับอำเภอ ณ โรงเรียนคำตากล้าราชประชาสงเคราะห์ อำเภอคำตากล้า ณ จังหวัดสกลนคร โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นความตั้งใจที่สำคัญของ วช. ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม และภาคีเครือข่ายในเขตสุขภาพที่ 8 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 7 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยรวมถึงจังหวัดสกลนคร เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการวิจัยภายใต้แผนงาน ความปลอดภัยทางถนน โครงการวิจัยเรื่อง “การวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตให้สอดคล้องกับเป้าหมายแผนแม่บทฉบับที่ 5” โดยมี นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย เป็นหัวหน้าโครงการ ระหว่างวันที่ 11 – 12 ธันวาคม 2566 ณ จังหวัดสกลนคร โดยโครงการวิจัยดังกล่าว เป็นการดำเนินงานแบบ Operational Research ที่มุ่งลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตให้สอดคล้องกับเป้าหมายแผนแม่บท ฉบับที่ 5 จากความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและภาคีเครือข่าย ในการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี กลไก แนวทางและกระบวนการเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนนรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย รวมถึงผลักดันงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติจริง
นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานในพื้นที่ในการร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ให้เหลือ 12 คน ต่อประชากรแสนคนภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศ โดย วช. จะเป็นหน่วยงานที่นำงานวิจัยที่เข้ามาสนับสนุน ในทุกมิติ เช่น การบังคับใช้กฎหมาย การประชาสัมพันธ์และจัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน รวมถึงการเพิ่มมาตรการการป้องกัน เพื่อลดความรุนแรง และการลดอุบัติเหตุทางถนน
นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวเสริมว่า กระทรวงคมนาคม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเล็งเห็นถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ คน ยานพาหนะ ถนน และสภาพแวดล้อม ซึ่งทางกระทรวงฯ จะเข้ามาดูในส่วนของแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งสภาพกายภาพของถนน ปัญหาความสว่าง การติดสัญญาณและป้ายเตือน โดยพร้อมสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเชิงวิชาการ และข้อค้นพบของงานวิจัยจาก วช. ที่จะมาช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุตามแผนงาน 12 เป้าหมายโลกที่มีเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จึงถือเป็นความพยายามของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์การปกครองท้องถิ่น
นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการรวมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน การแพทย์ และระบบบริการสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความปลอดภัยด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม โดยการจำแนกความเสี่ยงทั้ง คน สภาพแวดล้อม ยานพาหนะ เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และลดความเสี่ยงให้ได้ข้อมูลที่สำคัญและนำไปสู่การกำหนดและผลักดันนโยบาย มาตรการ การดำเนินการในการลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตให้สอดคล้องกับเป้าหมายแผนแม่บท ฉบับที่ 5 ของเขตสุขภาพที่ 8 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดหนองบัวลำพู อุดรธานี หนองคาย นครพนม เลย บึงกาฬ และสกลนคร ผ่านกลไกจัดการระดับเขต จังหวัด และกลไกจัดการระดับพื้นที่ โดยมีข้อค้นพบเพิ่มเติมคือ การบังคับใช้กฎหมายมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ในกรณีของการเกิดอุบัติเหตุมีทั้งที่เพิ่มขึ้นและลดลง เป็นสาเหตุมาจากปัจจัยความเสี่ยงเนื่องจากการไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ด้วยการเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกัน การกวดขันวินัยจราจรและการตั้งด่านของทั้ง 7 จังหวัด
นายแพทย์ประจักร เหิกขุนทด รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาพรวมของอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดสกลนคร โดยมีแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตลดลงจากเดิมในปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 24.49 คนต่อแสนประชากร ลดลงอยู่ที่ 19.8 ต่อแสนประชากรในปี พ.ศ. 2566 (โดยมีเป้าหมายประเทศไม่เกิน 12 คน ต่อแสนประชากร ในปี 2570) ซึ่งมาตรการและกลไกสำคัญที่ใช้คือ การระบุจุดพื้นที่เสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ขยายไหล่ทางและเพิ่มไฟฟ้าส่องสว่าง จากผลการดำเนินงานและบทบาทของจังหวัดสกลนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการความปลอดภัยทางถนน มีมาตรการการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายที่เข้มข้นโดยเฉพาะด้านการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจภูธรจังหวัดสกลนครในการลดพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับรถจักรยานยนต์และเยาวชน โดยมีการจัดทำทะเบียนกลุ่มเด็กแว๊นซ์และมีการติดตามอย่างเข้มงวด และมีการติดตามและปรับปรุงถนนให้ปลอดภัยและแก้ไขจุดเสี่ยงในถนนทุกรูปแบบ และส่งเสริมให้มีการบริหารทางการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพและลดเวลาการตอบสนองหลังเกิดเหตุ เพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือที่มีมาตรฐาน อีกทั้งเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวังและบูรณาการทำงานทุกภาคส่วนของจังหวัดสกลนครเพื่อผลักดันให้จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดต้นแบบของถนนปลอดภัยต่อไป
การตรวจเยี่ยมโครงการในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด เพื่อการขับเคลื่อนให้จังหวัดสกลนครเป็นพื้นที่นำร่องในการลดอุบัติเหตุทางถนนและข้อมูลเชิงลึกที่ได้จาก ผู้ใหญ่บ้าน นายก อปท. อบจ. และชุมชนในพื้นที่ที่มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นจะสามารถสะท้อนปัญหาและสามารถนำไปเป็นต้นแบบขยายในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของประเทศในอนาคตต่อไป
Print
Tags: