เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันหล่อลื่นชีวภาพที่ใช้ในการหล่อลื่นการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีการบูรณาการบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ผลิตและผู้ใช้น้ำมันหล่อลื่นชีวภาพเข้าร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ประกอบไปด้วย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท นิวไบโอดีเซล จำกัด และบริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันหล่อลื่นชีวภาพไปสู่ภาคการผลิตและการใช้งานอย่างแท้จริง ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ภายใต้แนวคิด “สานพลังงานวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ณ ห้องประชุม Lotus 5 – 6 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม หัวหน้าศูนย์กลางด้านความรู้ทางวิศวกรรมตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และที่มาของพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ที่เกิดขึ้นจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติมีนโยบายมุ่งเน้นด้านการพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน จึงได้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์กลางด้านความรู้ทางวิศวกรรมตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ (Hub of Knowledge) ที่เป็นศูนย์กลางระหว่างภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานวิจัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้เป็นนิมิตหมายอันดีของประเทศไทย ที่จะมีหน่วยงานระดับแนวหน้าของประเทศร่วมกันพัฒนาการวิจัยและเทคโนโลยี ด้านการผลิตผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นชีวภาพสำหรับใช้ในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ครอบคลุมทั้งหน่วยงานภาครัฐผู้ให้การสนับสนุนด้านการวิจัย หน่วยงานทำวิจัย และหน่วยงานเอกชนที่ทำหน้าที่ผลิตและใช้ประโยชน์จากน้ำมันหล่อลื่นชีวภาพที่ใช้ในการหล่อลื่นการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งน้ำมันหล่อลื่นชีวภาพดังกล่าวสามารถใช้ทดแทนสารหล่อลื่นจากปิโตรเลียม ช่วยลดการตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทั้งทางอากาศ ทางดิน และทางน้ำ อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยภายใต้ BCG model จากการใช้วัตถุดิบกลุ่มน้ำมันปาล์มและชีวมวลในประเทศ และเกิดการขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมได้อย่างครบวงจร