วช. ร่วมกับพันธมิตร ผลักดันงานวิจัยข้าวไทย สู่การเป็นผู้นำตลาดโลก

วช. ร่วมกับพันธมิตร ผลักดันงานวิจัยข้าวไทย สู่การเป็นผู้นำตลาดโลก




















วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเสวนา "การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยพื้นฐาน

สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมข้าว และการยกระดับมูลค่าข้าวไทยเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก" ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ ครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนาร่วมกับ ศ. ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมี รศ. ดร.ศิวเรศ อารีกิจ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม MR 206 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
นายสมปรารถนา กล่าวว่า วช. และ สกสว. กำลังผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก ด้วยการสนับสนุนนักวิจัยไทยให้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย เช่น การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค การพัฒนาพลังงานสะอาด และการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่
ศ. ดร.ดอกรัก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความสำคัญกับการวิจัยข้าวอย่างมาก เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยและมีความต้องการสูงในตลาดโลก จึงได้จัดตั้ง ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งเป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ การวิจัยข้าวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีส่วนสำคัญในการ ส่งเสริมเศรษฐกิจ และ ความมั่นคงทางอาหาร ของประเทศ
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการบรรยายเรื่อง “การขับเคลื่อนงานวิจัยข้าวไทยสู่การใช้ประโยชน์” โดย ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้บรรยายว่า งานวิจัยด้านข้าวมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การผลิตข้าวที่ยั่งยืน การแปรรูปข้าว และการตลาดข้าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทยและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาเรื่อง “มิติภาพรวมของข้าวไทย และนโยบายการเป็น Hub ด้านการเกษตรของโลก“ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.พยอม โคเบลลี่ กรมการข้าว และ รศ. ดร.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ และมี รศ. ดร.ศิวเรศ อารีกิจ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการ ด้วย
และในช่วงบ่าย ยังมีการเสวนาเรื่อง “สถานการณ์ข้าวไทย : แนวทางการแก้วิกฤติข้าวไทยในตลาดโลก” โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้ นายกฤชธนา ทองประเสริฐ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดร.วัลลด มานะธัญญา บริษัท บางชื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด นายนิพนธ์ สมิทธาพิพัฒน์ สมาคมโรงสีข้าวไทย นางสาวนราวดี โหมดนุช บริษัท โอแลม (ประเทศไทย) จำกัด นายสามารถ อัดทอง สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย ดร.วินิตชาญ รื่นใจชน ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ นายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย (นาเฮียใช้) และนายจารึก กมลอินทร์ ศูนย์ข้าวชุมชน และมี ดร.วศิน ผลชีวิน
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ ด้วย
การเสวนาครั้งนี้ วช. ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านข้าวระดับโลก โดยอาศัยพลังของงานวิจัยและนวัตกรรม
Print