เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดการแข่งขัน “ประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2568”
ภายใต้โครงการวิจัยดนตรีประจำชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเยาวชน “ไทยใหม่” รอบแสดงสด Live Solo Competition โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช.
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ประจำปี 2568 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ดำเนินการจัดการแข่งขันโดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ร่วมกับไทยพีบีเอส สนับสนุน โดย วช. ภายใต้กระทรวง อว. เปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนนักดนตรี ได้มีโอกาสในการแสดงความสามารถ ตลอดจนผลักดันให้เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจากการแข่งขันครั้งที่ 1 ได้มีเวทีในการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีเพื่อสร้างความภูมิฐานพัฒนาให้เป็น Soft Power ทีมเยาวชนดนตรีได้ผ่านรอบคัดเลือก online เข้าสู่เวทีรอบการแสดงสด ณ เวทีการแข่งขันที่ไทยพีบีเอส และในช่วงต่อไปอีก 2 เวที ที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา และที่ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ วช. พร้อมด้วย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการจัดการกิจกรรมการประลองดนตรีในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้นักดนตรีรุ่นใหม่พัฒนาฝีมือสู่ระดับมืออาชีพ และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในวงการดนตรีระดับสากล
รองศาสตราจารย์ ดร. สุกรี เจริญสุข หัวหน้าโครงการวิจัยดนตรีประจำชาติ กล่าวว่า มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ภายใต้การสนับสนุนจาก วช. ดำเนินการจัดโครงการวิจัยดนตรีประจำชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเยาวชน “ไทยใหม่” การประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2568 เปิดโอกาสให้เยาวชนได้โชว์ความสามารถทางดนตรีและไอเดียสร้างสรรค์ โดยการนำเพลงไทยดั้งเดิมปรับแต่งใหม่ให้ทันสมัย ผสมผสานกับเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด ทั้งไทยและสากล รวมถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ตอกย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมดนตรีของชาติผ่านการสนับสนุนเยาวชนในการประลองความสามารถในครั้งนี้
การแข่งขัน “ประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2” มุ่งเพิ่มทักษะและสมรรถนะความสามารถทางดนตรีของเยาวชนไทย สร้างพื้นที่ให้เยาวชนได้รังสรรค์ดนตรีไทยสู่สากลอย่างสร้างสรรค์และทันสมัย พร้อมนี้ วช.ได้ส่งเสริมการนำกระบวนการศึกษาวิจัยในอัตลักษณ์ของประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น นำเนื้อหาการศึกษามาผสมผสานกับดนตรีพื้นบ้านและดนตรีสากล เพื่อให้วช. วัฒนธรรมดนตรีเป็นอีกกลไกสำคัญในการส่งเสริม Soft Power ด้านดนตรีของไทย พร้อมพัฒนาและยกระดับฝีมือเยาวชนไทยไปสู่เวทีระดับสากล