วช. ร่วมกับเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ภาคใต้ (มหาวิทยาลัยหาดใหญ่) ภาคกลาง (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ภายใต้กรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายวิจัยภูมิภาคด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ปี พ.ศ. 2560 – พ.ศ. 2563 ได้ดำเนินการจัดการประชุมวิชาการด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีระหว่างหน่วยงานในภูมิภาค ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักในการยกระดับความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติในหน่วยงานให้มากขึ้น โดยที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมและนำเสนอผลงานด้านความปลอดภัยเป็นจำนวนมาก
สำหรับในปี 2562 วช. ได้มุ่งเน้นให้มีการดำเนินการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดในการขับเคลื่อนมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการตามกลไกการพัฒนาด้านมาตรฐานความปลอดภัย จึงได้กำหนดให้มีการติดตามผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยแม่ข่ายด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการใน 3 ระดับ ได้แก่ เครือข่ายวิจัยภูมิภาค (network) มหาวิทยาลัยแม่ข่าย (node) และลูกข่าย (sub - node) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับความปลอดภัยห้องปฏิบัติการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการกำกับดูแลการดำเนินงาน ตลอดจนติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยแม่ข่ายและลูกข่ายด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการในภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านมาตรฐานการวิจัยของภูมิภาค ตลอดจนติดตามการดำเนินงานด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ และกำกับดูแลกลไกการดำเนินงานด้านมาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการภายในภูมิภาค
การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ณ ห้องจูปิเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง) เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ เรื่อง “ความสำคัญของมาตรฐานการวิจัย”, รองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตุวัลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติบรรยายเรื่อง “แนวทางการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัย เพื่อการยอมรับร่วม (peer evaluation)” และการนำเสนอโปสเตอร์ รวมถึงกิจกรรมพิเศษ “show & share แนวปฏิบัติที่ดี (best practice)” โดยมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับรางวัลการนำเสนอผลการดำเนินงานยกระดับความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ (ห้องปฏิบัติการดีเด่น) จำนวน 2 รางวัล ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ (ห้องปฏิบัติการใหม่) ได้แก่ ห้องปฏิบัติการไมโครเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และรางวัลชนะเลิศ (ห้องปฏิบัติการที่ธำรงรักษามาตรฐานความปลอดภัย) ได้แก่ ห้องปฏิบัติการวิจัยกลางภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรางวัลการนำเสนอผลการดำเนินงานยกระดับความปลอดภัยห้องปฏิบัติการประเภทโปสเตอร์ (โปสเตอร์ยอดเยี่ยม) จำนวน 3 รางวัล ตามลำดับดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์อาหาร 217 คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เคมีและชีวภาพ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ห้องปฏิบัติการวิจัยกลางภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์