เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาความปลอดภัยทางถนน (Road Safety) ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รองประธานคณะกรรมการบริหารฯ เป็นประธานแทนในที่ประชุม และมีแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้แทนกองทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนน (กปถ.) ผู้แทนประธานคณะกรรมการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาความปลอดภัยทางถนน เข้าร่วมการประชุม
ในการประชุมได้มีประเด็นหารือในเรื่องแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านการวิจัยและวิชาการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยด้านความปลอดภัยทางถนน (MOU 3 กองทุน) โดยขอให้พิจารณาถึงการจัดทำ flagship ร่วมกันในด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้เป็นไปตามเป้าหมายแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน รวมถึงร่วมสนับสนุนงานวิจัยและงานวิชาการเพื่อสนับสนุนกลไกการจัดการ และการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ โดยควรมุ่งเน้นการจัดทำ sand box เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่เขตสุขภาพเสี่ยง รวมถึงให้ความเห็นชอบในหลักการ และ มอบหมายคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการ แนวทางการบริหารจัดการและแนวทางในการบูรณาการงบประมาณ เพื่อให้เกิดกลไกที่สนับสนุนการกำหนดโจทย์วิจัยและร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนน
ทั้งนี้ ความมุ่งหวังในการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาความปลอดภัยทางถนน (Road Safety) ซึ่งประกอบด้วย กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จะสามารถนำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือ เพื่อกำหนดนโยบาย และทิศทางการวิจัยและวิชาการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เกิดการเครือข่ายการทำงาน และสามารถผลักดันให้การวิจัย และวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนนของหน่วยงานภายใต้บันทึกข้อตกลง นำไปสู่การสร้างนโยบาย มาตรการ และกลไกด้านความปลอดภัยทางถนนด้วยข้อมูล นวัตกรรมหลักฐานเชิงประจักษ์ จากงานวิจัยและงานวิชาการ การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนานโยบายและมาตรการความปลอดภัยทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ