สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ ดร.อัณณ์ณิชา โตกิจกล้าธวัฒน์ รักษาการที่ปรึกษาระบบวิจัย และคณะ เข้าร่วมการประชุมวิชาการ “The 11th Asian Conference on Safety and Education in Laboratory (ACSEL2024)” ภายใต้ธีมการประชุม “Autonomous Risk Management and Comprehensive and Effective Environmental Safety Education at Universities” เมื่อวันที่ 28 – 29 พฤศจิกายน 2567 ณ Centennial Hall, Kyushu University School of Medicine เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมประจำปีที่จัดโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำและสถาบันวิจัยต่าง ๆในเอเชีย เป็นเวทีสำหรับนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญในการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการและการศึกษาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ซึ่งในประชุมประกอบด้วยการบรรยายเกี่ยวกับกลไกการขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ กลยุทธ์ในการส่งเสริมความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ และโปรแกรมการศึกษาด้านความปลอดภัย
การประชุมดังกล่าวมีการนำเสนอผลงานทั้งการบรรยายและโปสเตอร์ในเรื่องต่าง ๆ โดยมีผู้แทนจากกองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (กมว.) เข้าร่วมนำเสนอโปสเตอร์ หัวข้อ “Thailand’s Chemical Laboratory Safety Network and their Management” โดยนายศิริชัย ทิวะศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มงานจัดทำและพัฒนามาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัยและหัวข้อ “Enhancement of Safety Practice of Research Laboratory in Thailand” โดยนางสาวธนพร บุษบาวไล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ
นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายการประชุม ACSEL ในโอกาสดังกล่าว คณะกรรมการ ACSEL ได้เชิญผู้แทนประเทศไทย นำโดย ดร.อัณณ์ณิชา โตกิจกล้าธวัฒน์ พร้อมทั้ง ศาสตราจารย์ ดร. ธีรยุทธ วิไลวัลย์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการจากประเทศไทยเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางในการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายการประชุมฯ ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 8 ประเทศในเอเชียซึ่งการประชุมครั้งนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้เรียนรู้กลยุทธ์และเทคนิคในการส่งเสริมความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการจากการดำเนินงานของเครือข่ายประเทศต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานในประเทศไทยเช่น การใช้ computer vision และ AI ในการค้นหาสิ่งที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหรืออันตรายในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าว วช. สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัย เพื่อให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปตรวจประเมินฯ ทั่วประเทศ หรือการพัฒนา Safety Education Program เพื่อให้นักวิจัย นักศึกษา รวมถึงนักเรียน มีความรู้ความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ เพื่อลดความเสี่ยงหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้