วช. ร่วมกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาลำน้ำ ณ จังหวัดกาญจนบุรี

  • 26 August 2019
  • Author: Admin4
  • Number of views: 2018
วช. ร่วมกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาลำน้ำ ณ จังหวัดกาญจนบุรี




สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำนวัตกรรมจัดการกับวัชพืชและผักตบชวา ภายใต้โครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

                วช. ได้รับมอบหมายจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. โดยคณะกรรมการจิตอาสาเฉพาะกิจกลุ่มงาน โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ให้ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 โดย พลตรี สุรเดช ประเคนรี รองแม่ทัพน้อยที่ 1 ผู้แทนศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “การนำนวัตกรรมไปจัดการกับวัชพืชและผักตบชวาเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวความเป็นมา และนายอนันต์ นาคนิยม ปลัดจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวต้อนรับ ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ทั้งสิ้นจำนวน 195 คน ซึ่งในปีนี้ วช. ได้จัดกิจกรรมในหลายจังหวัดตามภูมิภาค และจังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่ 6 ในการจัดกิจกรรม โดย วช. จะดำเนินการจัดกิจกรรมลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง

                วช. ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาลำน้ำที่พร้อมนำไปสู่การใช้ประโยชน์และพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดำเนินชีวิตภายใต้เศรษฐกิจพอเพียงและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และ วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม “เครื่องผลิตปุ๋ยหมัก” แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มาสาธิตวิธีการใช้เครื่อง และให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทำปุ๋ยหมักและดินปลูกจากวัชพืชและผักตบชวา ให้แก่ชุมชน นักเรียน นักศึกษา เพื่อสร้างเป็นต้นแบบในการผลิตปุ๋ยหมักและดินปลูกต้นไม้จากวัชพืชและผักตบชวา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรและจำหน่ายเป็นการเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนด้วยนวัตกรรมที่ช่วยกำจัดวัชพืชและผักตบชวา

Print
Tags: