วช. ร่วมนำเสนอกลไก Strengthening Global Collaboration เสริมสร้างความร่วมมือระดับโลกในเวทีการประชุม International Science Council (ISC) ณ กรุงมัสกัต รัฐสุลต่านโอมาน

วช. ร่วมนำเสนอกลไก Strengthening Global Collaboration เสริมสร้างความร่วมมือระดับโลกในเวทีการประชุม International Science Council (ISC) ณ กรุงมัสกัต รัฐสุลต่านโอมาน












วันที่ 29 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 3 (The 3rd General Assembly) ของสภาวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Science Council, ISC) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 มกราคม 2568 ณ Oman Convention & Exhibition Centre กรุงมัสกัต รัฐสุลต่านโอมาน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในฐานะสมาชิก ของสภาวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Science Council, ISC) ได้รับเชิญให้นำเสนอในประเด็นการเสริมสร้างความร่วมมือและการเพิ่มศักยภาพในกลุ่มสมาชิก ISC ในช่วงการประชุมสมาชิก ของ ISC (Forum of Category 2 Members)

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของเครือข่ายสมาชิก Category 2 ของ ISC ซึ่งประกอบด้วยองค์กรวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย ทั้งสถาบันวิทยาศาสตร์ สภาวิจัย หน่วยงานให้ทุน หน่วยงานระดับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี องค์กรระดับภูมิภาค และองค์กรในสาขาเฉพาะทาง ครอบคลุมทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา โดยองค์ประกอบที่หลากหลายนี้นำมาซึ่งโอกาสสำคัญหลายประการ ทั้งศักยภาพในการทำงานร่วมกัน อิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย และการเข้าถึงทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนี้ ดร.วิภารัตน์ฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือข้ามภูมิภาค ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดการแก้ไขปัญหาท้าทายระดับโลก โดยการรวมผู้คนจากหลากหลายพื้นที่เข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดนวัตกรรมและแนวทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ความร่วมมือข้ามภูมิภาคมีข้อได้เปรียบหลายประการ ทั้งนี้ การริเริ่มความร่วมมือข้ามภูมิภาคให้ประสบความสำเร็จต้องมีปัจจัยสำคัญ เช่น การมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน การจัดลำดับความสำคัญที่สอดคล้องกัน และการคำนึงถึงความยั่งยืนและผลกระทบระยะยาว เป็นต้น
จากนั้นเป็นการนำเสนอโดยรองศาสตราจารย์อนรรฆ ขันธะชวนะ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการ วช. ซึ่งได้แบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือข้ามภูมิภาคของ วช. ผ่านโครงการสำคัญต่างๆ อาทิ โครงการวิจัยร่วม e-ASIA Joint Research Program, โครงการ Southeast Asia-Europe Joint Funding Scheme (JFS) และ Belmont Forum
นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสมาชิก ISC ผ่านการริเริ่มโครงการร่วมกัน เช่น โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ โครงการสนับสนุนทุนวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนนักวิจัย และการสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในระดับโลกร่วมกัน
การนำเสนอครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของประเทศไทยในเวทีวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ และความมุ่งมั่นของ วช. ในการส่งเสริมกลไกความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมระดับโลกร่วมกับนานาประเทศ
Print