วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมปลาดุกไทย ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวบทบาทและพันธกิจของแหล่งทุน พร้อมด้วย ดร.ฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง นายจักริน แต้ไพสิฐพงษ์ ที่ปรึกษา สำนักกิจกรรมเพื่อสังคม และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีลงนามดังกล่าว ณ ชั้น 6 อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมปลาดุกไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดย วช. ให้การสนับสนุนโครงการวิจัย “การเพิ่มขีดความสามารถการปรับปรุงพันธุ์ปลาดุก” ภายใต้ “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ปลาดุก ยกระดับมาตรฐานการผลิต และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและภาคเอกชน ความร่วมมือนี้จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมปลาดุกไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากล รองรับความต้องการของตลาด และเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรชีวภาพของประเทศ ซึ่ง วช. มุ่งหวังให้การวิจัยครั้งนี้เป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเกษตรของไทยไปสู่ความยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาเรื่อง “การยกระดับอุตสาหกรรมปลาดุกของไทยด้วยความร่วมมือแบบสามประสาน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ สังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปีงบประมาณ 2566 โครงการวิจัยเรื่อง “การเพิ่มขีดความสามารถการปรับปรุงพันธุ์กลุ่มปลาดุก (ปลาดุกอุย, ปลาดุกยักษ์ และลูกผสมบิ๊กอุย) เพื่อยกระดับผลผลิตและนวัตกรรมอุตสาหกรรมสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากทั้งสองฝ่ายนี้เป็นการผสานพลังระหว่างสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการวิจัยและวิชาการด้านปลาดุก รวมถึงการพัฒนาบุคลากร นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ในการยกระดับอุตสาหกรรมปลาดุกของไทยสู่มาตรฐานสากล เพื่อรองรับความต้องการตลาดที่เพิ่มขึ้น และส่งเสริมความยั่งยืนของเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมปลาดุกของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มุ่งมั่นขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านการเกษตรและอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป