สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมจัดกิจกรรม/แสดงนิทรรศการ ในงาน “คาราวานวิทยาศาสตร์ อว. สืบสาน รักษา ต่อยอดสู่ความยั่งยืนฯ จัดโดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อเทิดพระเกียรติพระราชกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพด้านต่าง ๆ สร้างความรู้ความเข้าใจ และเปิดโอกาสในการเข้าถึงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชน และประชาชนในระดับภูมิภาค ในลักษณะของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ ระหว่างวันที่ 18 - 21 มิถุนายน 2567 ณ โรงเรียนประจวบวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดย วช. ได้นำกิจกรรม การเพาะเชื้อเห็ดไมคอร์ไรยาลงกล้าไม้มีค่า และการวาดภาพระบายสีพร้อมตอบคำถามไม้มีค่า โดยมี ดร.เจษฎา วงค์พรหม และคุณละอองดาว เถาว์พิมาย จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมคณะ ให้เกียรติเป็นวิทยากรในการจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยมีเยาวชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
การเรียนรู้เรื่องไม้มีค่า ผ่านกิจกรรมการใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ซาในกล้าไม้มีค่า ซึ่งเห็ดมีบทบาทสำคัญต่อการอาศัยอยู่ร่วมกันของราที่อยู่ใต้ดินอยู่กับรากของต้นไม้ โดยมีการพึ่งพาอาศัยกัน แลกเปลี่ยนน้ำและธาตุอาหารที่จำเป็นซึ่งกันและกัน ส่งเสริมให้ต้นไม้เติบโตได้ดี นอกจากนี้ไมคอร์ไรซายังช่วยป้องกันเชื้อก่อโรคที่จะเข้ามาทางรากกล้าไม้ ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวรากและทำให้กล้าไม้มีความสามารถทนแล้งได้ เมื่อถึงฤดูฝนและสภาพพื้นที่มีความเหมาะสม เส้นใยของราที่อยู่ใต้ดินก็จะเจริญเป็นดอกเห็ดโผล่ขึ้นมาจากดิน ทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเห็ดมาบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง การเรียนรู้นี้จะทำให้นักเรียนรู้จักเห็ดเผาะ วิธีการทำเชื้อสปอร์เห็ดเผาะ การใส่เชื้อเห็ด และการดูแลกล้าไม้หลังการใส่เชื้อเห็ด รวมถึงกิจกรรมการวาดภาพระบายสีไม้มีค่าในประเทศไทย เพื่อให้เยาวชนได้เสริมสร้างจินตนาการและสนุกกับการเรียนรู้ในเรื่องไม้มีค่ามากขึ้น นอกจากนี้ เยาวชนที่เข้าร่วมงานยังได้ร่วมสนุกไปกับชิ้นงานวิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ นิทรรศการสนุกกับอาชีพวิทยาศาสตร์ การแสดงวิทยาศาสตร์ ห้องอบรมสำหรับนักเรียน มุมนักประดิษฐ์ ท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับสาระความรู้ทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ
การจัดงาน คาราวานวิทยาศาสตร์ อว. สืบสาน รักษา ต่อยอดสู่ความยั่งยืนฯ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน 2567 - สิงหาคม 2567 โดย วช. จะร่วมนำผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไปจัดแสดงและฝึกอบรมให้กับเยาวชน นักเรียน และประชาชนผู้สนใจในครั้งต่อไปอีก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา เพื่อให้เยาวชนเกิดองค์ความรู้ ทักษะและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้นในอนาคต