เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การต้อนรับ คณะผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ(สกมช.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ร่วมกำหนดทิศทางประเด็นสำคัญในการวิจัยเพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมการพัฒนากำลังคน เตรียมความร่วมมือ 3 หน่วยงาน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และ ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ร่วมนำการหารือ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารของทั้ง 3 หน่วยงาน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ พร้อมกับการพัฒนานักวิจัยและบุคลากรการวิจัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และให้ความสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการมีความร่วมมือในการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนากำลังคน และการต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจหลักของ สกมช.คือ การศึกษาและวิจัยข้อมูลสำหรับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและเหตุการณ์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน โดยมุ่งหวังให้เกิดการส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะช่วยป้องกันภัยหลอกลวงออนไลน์และภัยคุกคามทางไซบอร์ การพัฒนาบุคลากรทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์ให้กับประชาชน
ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวถึงภารกิจสำคัญของ สคส. ในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และเป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางวิชาการหรือให้บริการที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแก่หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน และประชาชน โดยมุ่งหวังยกระดับงานวิจัยและเทคโนโลยีด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
การประชุมครั้งนี้จึงถือเป็นการประชุมสำคัญ นำสู่ความร่วมมือในการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนากำลังคน และการต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในระดับประเทศ ในทิศทางความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงาน