วช. สนับสนุน วว. สร้างศูนย์เรียนรู้เกษตรแปลงใหญ่ บ้านตาติด จ.อุบลราชธานี พลิกโฉมการปลูกเบญจมาศ สร้างรายได้เศรษฐกิจฐานราก

วช. สนับสนุน วว. สร้างศูนย์เรียนรู้เกษตรแปลงใหญ่ บ้านตาติด จ.อุบลราชธานี พลิกโฉมการปลูกเบญจมาศ สร้างรายได้เศรษฐกิจฐานราก
















สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) เปิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ศูนย์การขยายผลการผลิตไม้ดอก ณ บ้านตาติด จ.อุบลราชธานี โดยมี นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ศูนย์การขยายผลการผลิตไม้ดอก พร้อมด้วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กรรมการกฤษฎีกา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตประธานกรรมการ ธกส. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ร่วมกล่าวถึงการดำเนินงาน โดยมี ผู้บริหารในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิของ วช. ทีมนักวิจัยของวว. ร่วมในพิธีเปิด ณ ศาลาประชาคมบ้านตาติด ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า วันนี้ เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นสักขีพยานความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตดอกเบญจมาศบ้านตาติด ที่นี่ไม่ใช่แค่แปลงปลูกดอกไม้ แต่คือต้นแบบของการพัฒนาเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อก่อนพื้นที่แห่งนี้เป็นเพียงนาข้าว แต่ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงให้เป็นศูนย์กลางการผลิตดอกไม้ที่ทันสมัย เกษตรกรบ้านตาติดไม่ใช่แค่ผู้ปลูก แต่กลายเป็นผู้ประกอบการที่สามารถสร้างรายได้และพัฒนาชุมชนของตนเอง ซึ่งความสำเร็จของที่นี่เกิดจากการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการผลิต ทำให้ได้ดอกไม้ที่มีคุณภาพสูง ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างดี ทั้งนี้ การปลูกดอกไม้ไม่ใช่แค่การสร้างรายได้ แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสามารถสร้างตลาดภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการส่งออก และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นผลจากความร่วมมือระหว่าง วช. วว. และหน่วยงานในพื้นที่ และที่สำคัญคือพี่น้องเกษตรกรผู้มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอาชีพของตนเอง วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย มุ่งหวังที่จะเห็นผลงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และครั้งนี้ ได้เห็นแล้วว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม ดอกเบญจมาศที่ปลูกขึ้นด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีคุณภาพสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และชุมชนก็มีความเข้มแข็งมากขึ้น นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เมื่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคนมารวมกัน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้
ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวว่า วว. ไม่ได้เป็นเพียงหน่วยงานวิจัย แต่ยังเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง จากเดิมที่เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง เช่น ปัญหาดินเสื่อม ราคาผลผลิตตกต่ำ วว. ได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านีด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และสร้างรายได้ที่มั่นคง ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อชีวิตของเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
ปัจจุบันชุมชนบ้านตาติด ได้เปลี่ยนแปลงจากหมู่บ้านเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม สู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตดอกเบญจมาศคุณภาพสูง เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัยและครบวงจร เกษตรกรในชุมชนไม่เพียงแต่เป็นผู้ผลิตดอกไม้ แต่ยังเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ผู้อื่น อีกด้วย ทั้งนี้ ศูนย์การขยายผลการผลิตไม้ดอกแบบองค์รวมบ้านตาติด ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรให้มีความรู้ความสามารถ และผลิตดอกไม้ที่มีคุณภาพสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ด้วย
Print