วช. หนุน มช. พัฒนา“ระบบบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขครบวงจร“ Spearhead ด้านสังคม ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้
วันที่ 4 มีนาคม 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการประชุมวิชาการเหลียวหลัง-แลหน้างานวิจัยมุ่งเป้า “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขครบวงจร จากล่างสู่บน ปีที่ 3” ขึ้น โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ศ. เกียรติคุณ ดร. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติกล่าวแสดงความยินดี โดยมี ศ.ดร. นพ. พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ และ ศ. เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานแผนงานบริหารแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม: แผนงานระบบบริการสุขภาพ กล่าวรายงาน ซึ่งงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 5 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมแกรนด์วิว 1 โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่
ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคมแผนงานระบบบริการสุขภาพ: การพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร ปีที่ 3 นี้ถือเป็นปีแห่งความสำเร็จที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งของการบริหารจัดการทุนวิจัยของประเทศ ซึ่งสิ่งสำคัญของการวิจัยหลังจากเกิดผลสำเร็จแล้ว ต้องสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปในปี 2562 ได้เริ่มโครงการ Spearhead หลักคิดเริ่มต้นของแผนงานระบบบริการสุขภาพ คือ การส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีมากขึ้นจึงทำให้เกิดการพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร หรือ SECSI และ ณ ปัจจุบันก็ดำเนินการจนเกิดความสำเร็จและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และในอนาคตงานวิจัย Spearhead จะสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่องานด้านสาธารณสุข หรืองานในด้านอื่นๆ ได้ต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ และเป็นหน่วยงานกลางที่ประสานเชื่อมโยงทุกภาคส่วนบนฐานงานวิจัยเพื่อทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งการประชุมวิชาการเหลียวหลัง-แลหน้างานวิจัยมุ่งเป้า “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจรจากล่างสู่บน” ปีที่ 3 ที่จัดขึ้นในวันนี้ จะเห็นได้ว่าแผนบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย หรือ Spearhead ถือเป็นการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาในรูปแบบงานวิจัยไว้ล่วงหน้า โดยระบบบริการสุขภาพ เป็นแผนงานหนึ่งที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาของประเทศ เนื่องจากการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสมถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ ซึ่งแผนงาน Spearhead สามารถสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนและกลุ่มเสี่ยงต่อการป้องกัน การเฝ้าระวัง การเข้าถึงบริการ การดูแลเมื่อเกิดเหตุ และการดูแลหลังพ้นระยะฉุกเฉิน ตลอดจนการเชื่อมโยงบริการให้มีความต่อเนื่องระหว่างสถานบริการทุกระดับ ดังนั้นการมีระบบการดูแลที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ครบวงจร ประชาชนเข้าถึงง่ายจะสามารถลดความสูญเสียจากการพิการ การเสียชีวิต และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในอนาคตได้อย่างยั่งยืน และในอนาคตแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคมแผนงานระบบบริการสุขภาพ: การพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจรจะสามารถขยายการทำงานและผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อให้เห็นภาพระบบการบริหารจัดการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพของประเทศต่อไป
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ประธานแผนการวิจัยมุ่งเป้า กล่าวว่า การจัดงานประชุมวิชาการฯ ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยภายใต้โครงการวิจัยแบบบูรณาการยุทธศาสตร์มุ่งเป้าด้านสังคม ด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ จาก วช. โดย โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันการศึกษาในพื้นที่นำร่อง ตั้งแต่ปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของหน่วยงานบริการในระดับต่าง ๆ ในพื้นที่ในการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะเพิ่มเติมของบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาระบบบริการ เพื่อการต่อยอดและขยายผลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการระบบบริการในพื้นที่ทั่วประเทศในอนาคต จึงถือเป็นงานวิจัยพัฒนาจากล่างสู่บน ที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ “โครงการวิจัย SECSI: งานวิจัยจากล่าง สู่ บน สร้างงาน สร้างคน สร้างระบบได้จริงหรือ ?” โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กรรมการอำนวยการ แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานระบบบริการสุขภาพ พร้อมทั้งมีการจัดเวทีเสวนาวิชาการในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องตามยุทธศาสตร์หลักของโครงการ และการจัดแสดงผลงานกิจกรรมการเรียนรู้ ภายใต้โครงการ SECSI อีกด้วย