วช. เดินหน้าบ่มเพาะบุคลากรวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม รุ่นที่ 3 สู่การพัฒนานวัตกรรมคุณภาพระดับอุดมศึกษา

วช. เดินหน้าบ่มเพาะบุคลากรวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม รุ่นที่ 3 สู่การพัฒนานวัตกรรมคุณภาพระดับอุดมศึกษา

วันที่ 30 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนวัตกรและผลงานนวัตกรรม รุ่นที่ 3 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พลังขับเคลื่อนอนาคต : การพัฒนาศักยภาพบุคลากรการวิจัยและนวัตกรรม” ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการสนับสนุน ส่งเสริม และสร้างโอกาส ให้มีนักวิจัย นักประดิษฐ์ นวัตกร เพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมคุณภาพสูง โดยการบ่มเพาะและสร้างนักประดิษฐ์ นักวิจัย นวัตกรรุ่นเยาว์ จึงเป็นการวางรากฐานอนาคตของประเทศ และเสริมการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ด้วยวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ โดยในปี 2567 วช. ได้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและนักประดิษฐ์สายอุดมศึกษา โดยจัดกิจกรรมประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2567 (Higher Education Innovation Award 2024) ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เป็นเวทีนำเสนอผลงานนวัตกรรมเพื่อรับการประเมิน พัฒนา และต่อยอดผลงาน และสร้างโอกาสให้นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมและสร้างเครือข่ายนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ ซึ่งนำเสนอผลงานที่ผ่านการพิจารณารอบคัดเลือกจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพนวัตกรและผลงานนวัตกรรม (Creative Innovators) ก่อนที่จะนำเสนอผลงานเข้าร่วมประกวดในรอบตัดสิน ระหว่างวันที่ 26 - 28 สิงหาคม 2567 ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

 

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การตัดสินใจ และการทำงานเป็นทีม เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับกระบวนการนวัตกรรม เครื่องมือ และเทคนิคต่าง ๆ เรียนรู้จากประสบการณ์จริงของนักนวัตกรและผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงฝึกฝนทักษะการนำเสนอผลงานนวัตกรรม และกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

ทั้งนี้ วช. ได้กำหนดกลุ่มเรื่องผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม 5 กลุ่ม ได้แก่

- ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

- ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์

- ด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และอุปกรณ์อัจฉริยะ

- ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีวัสดุ BCG Economy Model

- ด้านคุณภาพชีวิตและ Soft Power

 

นอกจากกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนวัตกรและผลงานนวัตกรรม วช. ยังได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนผลงานนวัตกรรมของสายอุดมศึกษาในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในเวทีระดับชาติ วันนักประดิษฐ์ Thailand New Gen Inventors Award (I-New Gen Award) มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo) การประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา และการนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในเวทีระดับนานาชาติ อีกด้วย

 

โดยกิจกรรมภายในงานมีการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อประเด็นต่าง ๆ อาทิ

- การบรรยายเรื่อง “ถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองของการเป็นผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรม ในการขับเคลื่อนธุรกิจ” โดย นางสาวอัจฉรา ปู่มี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

- การบรรยายเรื่อง “มุมมองที่ไม่เหมือนใครของนักวิจัย นวัตกร และผู้ประกอบการ : วิศวกรรมทางการแพทย” โดย รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

- Success Case ทรายแมว : การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ Pain Point โดย ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท รีนิว อินโนเวชั่นส์ จำกัด

- การชี้แจงการเตรียมความพร้อมการนำเสนอผลงานเข้าร่วมประกวดในรอบตัดสิน ระหว่างวันที่ 26 - 28 สิงหาคม 2567 ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)” โดย นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรการวิจัยและนวัตกรรม วช.

 

สำหรับกิจกรรมในช่วงบ่าย ได้มีการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ  : การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Base Learning (PBL)) โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ตัวเองสู่การทำไอเดียต่อยอด รวมถึงทำให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ปลุกพลังคิดนวัตกรรมสุดเจ๋ง และเสริมไอเดียการสร้างนวัตกรรม การนำเสนออย่างไรให้โดนใจด้วย Storytelling  รวมทั้งสรุปประเด็นจากการแบ่งกลุ่ม ให้แก่ทีมนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ อีกด้วย

 

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ วช. มุ่งเน้นถึงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย นักประดิษฐ์ และนวัตกรรมของไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาได้พัฒนาผลงาน ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ผ่านการแข่งขันในเวทีระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งจะเป็นรากฐานสําคัญในการสร้างนวัตกรรมต่อไป และในอนาคต วช. หวังว่าจะได้เห็นผลงานและนวัตกรรมของไทยได้โดดเด่นในเวทีระดับประเทศและนานาชาติ

Print
Tags: