วช. เดินหน้าสร้างเครือข่ายยกระดับการใช้บริการรหัส DOI ผลงานวิจัยไทย สู่มาตรฐานสากล

วช. เดินหน้าสร้างเครือข่ายยกระดับการใช้บริการรหัส DOI ผลงานวิจัยไทย สู่มาตรฐานสากล
















วันที่ 6 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรม “การยกระดับการบริการรหัส DOI ของผลงานวิจัยไทย” ประกาศเดินหน้าโครงการส่งเสริมความร่วมมือและสร้างเครือข่ายหน่วยงานตัวแทนในการยกระดับการบริการรหัส DOI (Digital Object Identifier) สำหรับผลงานวิจัยไทย เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมในระดับสากล โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม นางมาริยาท ตั้งมิตรเจริญ ผู้อำนวยการกองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวต้อนรับ นายชาตรี วงษ์แก้ว

นักวิชาการอิสระ พร้อมด้วยนายรุ่งเรือง มากสกุล บริษัท ซิมพลี ไบรท์ ซิสเต็ม จำกัด เป็นวิทยากรบรรยาย รวมทั้งมีการถ่ายทอดประสบการณ์การใช้งานระบบหน่วยงานตัวแทนสำหรับ วช. ในการออกรหัส DOI จากหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องโถง ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ชั้น 1 อาคาร วช. 8 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ดำเนินงานในการบริหารจัดการตัวระบุวัตถุดิจิทัล (Digital Object Identifier: DOI) เพื่อให้บริการสารสนเทศการวิจัยที่เป็นมาตรฐานสากล โดย วช. ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ DataCite เพื่อเป็นองค์กรในการกำหนดรหัส DOI ของงานวิจัยในประเทศไทยและให้บริการรหัส DOI กับทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการรหัส DOI ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลเมทาดาตา (Metadata) ไฟล์เอกสารดิจิทัล และสร้างรหัส DOI โดยประโยชน์ของรหัส DOI จะช่วยในการค้นหาและเชื่อมโยงการเข้าถึงสารสนเทศดิจิทัลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถสืบค้นข้อมูลได้เจอบนอินเตอร์เน็ตตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ของเว็บไซต์หรือ URL แล้วก็ตาม
การยกระดับการใช้รหัส DOI ในผลงานวิจัยไทยไม่เพียงแต่จะช่วยในการระบุและติดตามผลงานวิจัยได้อย่างแม่นยำ แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและการเข้าถึงผลงานวิจัยของไทยในระดับสากลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีบุคลากรจากหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 70 คน ซึ่งโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรมของไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป
Print