วช. และ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ (Hub of Talents in Postharvest Technology and Process of Fruits) ร่วมติดตามการผลักดันและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการส่งออกส้มโอ

วช. และ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ (Hub of Talents in Postharvest Technology and Process of Fruits) ร่วมติดตามการผลักดันและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการส่งออกส้มโอ










สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

มอบหมายให้ นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ ร่วมติดตามการผลักดันและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการส่งออกส้มโอผลสดทางเรือไปประเทศสหรัฐอเมริกา และร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายงานวิจัยด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ระหว่างวันที่ 9 - 16 ธันวาคม 2567 ณ เมืองลอสแองเจลิส แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประเทศไทยได้รับอนุญาตให้นำผลไม้ไทยเข้าสหรัฐอเมริกาได้โดยต้องผ่านการฉายรังสี 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด เงาะ และแก้วมังกร โดยในเดือนพฤศจิกายน 2564 สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้มีการนำเข้าส้มโอจากไทย เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด แต่การส่งออกต้องผ่านการฉายรังสีที่ 400 เกรย์ เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช โดยการฉายรังสีส้มโอส่งออกสหรัฐอเมริกาสำเร็จครั้งแรกของไทย จากความร่วมมือ วช. - สทน. – ม.นเรศวร ซึ่งเป็นการส่งออกนำร่องโดยเครื่องบินเพื่อจัดแสดงในงาน Natural Product Expo East 2023 เมื่อวันที่ 20-23 กันยายน 2566 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในครั้งนี้ วช. และศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ ได้ร่วมมือผลักดันและถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการส่งออกส้มโอผลสดทางเรือไปประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี IQ Produce Company เป็นบริษัทส่งออกส้มโอผลสดฉายรังสี และได้เข้าร่วมตรวจสอบคุณภาพส้มโอผลสดฉายรังสีโดยการขนส่งทางเรือ ก่อนนำส่งผู้ประกอบการเพื่อจัดจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา ณ IQ Produce Company แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่ส้มโอจากประเทศไทยจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการส่งออกในตลาดสหรัฐอเมริกาด้วยการขนส่งทางเรือ โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ก่อให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อลดต้นทุนการส่งออก เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านราคาและปริมาณ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ส้มโอจากไทยเป็นที่รู้จักต่อผู้บริโภค ทำให้สามารถเปิดตลาดส้มโอไปยังสหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปอเมริกาได้เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ได้เข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้งานวิจัยด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ณ UC davis Postharvest Research and Extension center, University of California Davis (UC davis) พร้อมทั้งร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้งานวิจัยด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว โรคพืช และจุลินทรีย์ ร่วมกับคณาจารย์ และนักวิจัยจาก UC davis โดยได้รับเกียรติจาก Dr. Johan H.J. Leveau และ Dr. Cai-Zhong Jiang ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์จากงานวิจัยในครั้งนี้ด้วย ตลอดจนหารือแนวทางในการสร้างเครือข่ายนักวิจัย และการพัฒนาหลักสูตรด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจาก วช. ภายใต้แผนงานการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge)
Print