วช. และ สอศ. บ่มเพาะนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์สายอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) จัดกิจกรรม“การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2567 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พัฒนากำลังคนสู่การขับเคลื่อนประเทศโดยใช้ฐานนวัตกรรม” พร้อมนี้ ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สอศ. ร่วมบรรยายพิเศษ กิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 14 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา อุดร จ.อุดรธานี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะคนด้วยวิจัยและนวัตกรรม พร้อมกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (Mega Trends)ของโลกและประเทศไทย มีความเชื่อมโยงต่อการเตรียมความพร้อมด้านสังคม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และต้องร่วมพิจารณาในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ดังเช่นประเด็น นวัตกรรมพลิกโฉมและนวัตกรรมขั้นแนวหน้า/ล้ำยุค (Disruptive Innovation and Frontier Technology) สังคมสูงวัย (Aging Society) การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคทางสังคม (Disparity and Social Inequality) และการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากร (Environmental Degradation and Scarcity of Resource) ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคต
ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สอศ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ สร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษายุคใหม่ งานวิจัยยุคใหม่ต้อง “กินได้ ใช้ประโยชน์ได้ ขายได้ แก้ปัญหาได้” ตอบโจทย์การพัฒนาอนาคต ยกระดับขีดความสามารถด้าน Soft power มีความเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชน ต่อยอดเชิงธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยปัจจุบันมีประเด็นทั่วโลกที่น่าสนใจ 4 ประเด็นคือ อินเดียกับกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก New model economics : เศรษฐกิจไม่ปกติ AI เขย่าการทำงาน และธุรกิจร่วมฟื้นฟูโลก โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่ง สอศ. ได้ส่งเสริมให้หลากหลายสาขาอาชีพที่มีอยู่ นำกระบวนการวิจัยไปบูรณาการ จัดการเรียน การสอนในห้องเรียน เพื่อที่จะสร้างให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการ แก้ไขปัญหา รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาอีกด้วย
ทั้งนี้ กิจกรรมในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์และนักศึกษาสายอาชีวศึกษา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วม 300 คน ให้เกิดแรงจูงใจในการคิดค้นผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อใช้ในประเทศ โดยมีการแบ่งกลุ่มการฝึกปฏิบัติ 5 ด้าน คือ ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model และด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้น ตลอดจนการเขียนข้อเสนอโครงงานสิ่งประดิษฐ์ได้อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้นักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาได้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสร้างสรรค์ผลงานในเชิงนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสังคม