วันที่ 22 มกราคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญของเครือข่ายนักวิจัยด้านชีวสารสนเทศแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัย (CMUTEAM) คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ “The 2nd Thailand Bioinformatics Research Network International Conference ภายใต้หัวข้อ “Biology-inspired pursuits” ระหว่างวันที่ 22 – 24 มกราคม 2568 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกล่าวเปิดการประชุม และมี รศ.ดร.นพ. ดำเนินสันต์ พฤกษากร ผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญของเครือข่ายนักวิจัยด้านชีวสารสนเทศแห่งประเทศไทย กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการประชุม ณ โรงแรมเซ็นทาราริเวอร์ไซด์ จ.เชียงใหม่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในปัจจุบันงานวิจัยด้าน
ชีวสารสนเทศมีความสำคัญมาก โดยเป็นศาสตร์ที่อยู่ในระดับแนวหน้าของนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยในด้านต่างๆทั้งด้านการแพทย์ และด้านการเกษตร วช. ได้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญของเครือข่ายนักวิจัยด้านชีวสารสนเทศแห่งประเทศไทย ที่มุ่งเน้นให้เป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ(Hub of Talents) ในการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรการวิจัยด้านชีวสารสนเทศให้มีจำนวนมากขึ้น การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในด้านชีวสารสนเทศศาสตร์ในระดับโลกอีกด้วย
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพเพื่อนำไปสู่การแพทย์ที่แม่นยำ โดยมี CMUTEAM ที่เป็นทีมงานหลักและมีบทบาทสำคัญในการติดตามสถานการณ์ด้านเทคโนโลยีโอมิกส์และชีวสารสนเทศ
รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ชีวสารสนเทศเป็นข้อมูลทางชีวภาพเชิงลึกที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าในด้านการดูแลสุขภาพ เกษตรกรรม และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการผลักดันการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีวสารสนเทศของไทยให้มีความสามารถทัดเทียมกับนานาชาติ โดย สกสว. มีเป้าหมายที่จะสร้างระบบนิเวศการวิจัยและการพัฒนาบุคลาการด้านการวิจัย รวมถึงการสร้างความร่วมมือในการวิจัยแบบสหสาขาวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและระดับนานาชาติต่อไป
ทั้งนี้ภายในงานได้มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Long non-coding RNAs Functions in Genomics Regulation” โดย Professor Piero Carninci จาก RIKEN: Research Center for Integrative Medical Sciences, Yokohama, Japan และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านชีวสารสนเทศในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ได้แก่
งาน Perspectives from attendees of ISMB, APBJ and Biohackathon 2024, งาน International Society for Computational Biology (ISMB), งาน Asia and Pacific Bioinformatics Joint Conference (APBJC) และ งาน BioHackathon 2024 มานำเสนออีกด้วย