“ศุภมาส” รัฐมนตรี อว. ชูประเด็นเด่น AI และ STEM ศึกษา ในเวทีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก ณ Kyoto International Conference Center เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

“ศุภมาส” รัฐมนตรี อว. ชูประเด็นเด่น AI และ STEM ศึกษา ในเวทีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก ณ Kyoto International Conference Center เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น





















นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “World in 2024 -- What do we need from S&T?” ในพิธีเปิดเวที Science and Technology in Society forum 2024 (STS forum 2024) - The 21st Annual Meeting” ในวันที่ 6 ตุลาคม 2567 ณ Kyoto International Conference Center เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยวิกฤตการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน สังคมและเศรษฐกิจ ในขณะที่ทั่วโลกต่างร่วมมือกันเพื่อใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมในการแก้ปัญหาและพัฒนาโลกในด้านต่างๆ แต่ทว่าเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนดังกล่าวได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลงทุนกับทรัพยากรบุคคลด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคลเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของโลกยุคใหม่ “ทักษะ STEM (สะเต็มศึกษา)” ซึ่งเป็นการบูรณาการความรู้ระหว่าง 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อนำเอาจุดเด่นของแต่ละสาขาวิชามาผสมผสานกันอย่างลงตัว โดยมุ่งเน้นไปที่ทักษะหรือการปฏิบัติจริง จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ การทำงาน และการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน
ในพิธีเปิดงานนายชิเครุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ส่งสารร่วมในพิธีเปิด โดยชี้ประเด็นว่า Generative AI มีบทบาทสำคัญในดัานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในหลายสาขาทั้งทางด้านสาธารณสุข การศึกษา และสาขาอื่นๆที่มีผลต่อสังคม และได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติใน 2 ด้าน คือด้านนวัตกรรมเพื่อพลังงานฟิวชั่น โดยมุ่งเน้นความเป็นกลางทางคาร์บอน และด้านที่ 2 คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรผู้มีความสามารถหรือ “Talents” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการกำหนดสังคมในอนาคต
พร้อมนี้ Prof. Hiroshi Komiyama, Chairman of STS forum ได้เน้นย้ำถึงความท้าทายระดับโลกที่เราต้องเผชิญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม
นอกจากนี้ ยังมีผู้นำระดับสูงจากหน่วยงานประเทศต่างๆ ร่วมปาฐกถาพิเศษ ได้แก่
- ดร. Eldesouki Munir M. ประธานเมืองแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งกษัตริย์อับดุลอาซิส ซาอุดิอาระเบีย กล่าวว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะถูกใช้ในการแก้ปัญหาท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร วิกฤตสาธารณสุข และการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์
- นาย Yoo Sang-Im รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีที สาธารณรัฐเกาหลี กล่าวว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพโลก โดยเฉพาะในยุคที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึง "Digital Bill of Rights" ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างสังคมดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบร่วมกัน
- Prof. Maria T. Zuber ประธานร่วมสภาที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สหรัฐอเมริกา กล่าวว่าความท้าทายสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และความต้องการพลังงานทั่วโลก 2) สุขภาพโลกและการระบาดใหญ่ 3) ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร และ 4) การขาดแคลนน้ำจืดและคุณภาพน้ำ
- Dr. Jens Brandenburg เลขาธิการสภา กระทรวงการศึกษาและวิจัย สหพันธรัฐเยอรมนี กล่าวว่ามี 3 ประเด็นหลักที่ให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) ความแข็งแกร่งจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเอาชนะวิกฤตผ่านนวัตกรรม 2) อำนาจอธิปไตยทางเทคโนโลยี และ 3) ความมั่นคงทางทหาร ความมั่นคงทางไซเบอร์ และความมั่นคงของพลเรือน
ในโอกาสนี้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะผู้บริหารจากหน่วยงานภายใต้ อว. และนักวิจัย Young leaders เข้าร่วมเวที “STS forum 2024 - The 21st Annual Meeting” ประกอบด้วย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารอีกหลายหน่วยงาน
ปัจจุบัน วช. เป็น Council Member ของ STS forum ซึ่ง STS forum เป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองและผนึกกำลังจากเครือข่ายต่างๆ ที่มีศักยภาพทั่วโลก วช. ได้ส่งต่อโอกาสให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ของไทย ในการเข้าร่วมกิจกรรมและนำเสนอผลงานวิจัยในเวทีสำคัญของ STS forum อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ในบทบาทของ Young Leaders ในปีนี้ วช. ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมในหัวข้อ “Science and Technology for Future Transition” ในวันที่ 6 ตุลาคม 2567 ระหว่างการจัดงาน STS forum 2024 อีกด้วย
งาน STS forum จัดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ได้รับข้อมูลเชิงลึกและมุมมองใหม่ ๆ ที่สำคัญ และเป็นโอกาสในการแสวงหานวัตกรรม ความคิด และข้อริเริ่มร่วมกัน รวมถึงสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความต้องการและผลกระทบจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อสังคม
Print