สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมในหัวข้อเรื่อง “Science, Research, and Innovation for Future Transition” ในวันที่ 6 ตุลาคม 2567 ระหว่างการประชุม STS forum 2024 – The 21st Annual Meeting ณ Kyoto International Conference Center เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานในพิธีเปิดการประชุม กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกและชีวิตประจำวัน โดยประเทศไทยมีแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต รวมถึงการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของนักวิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์แนวทางแก้ปัญหาระดับโลก
ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยกล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบโลก ผลักดันพรมแดนความรู้ และเร่งความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาท้าทายระดับโลก โดยการเสริมพลังคนรุ่นใหม่เป็นแนวทางสำคัญในการเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยกระทรวง อว. มีพยายามและให้ความสำคัญในการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับองค์กรชั้นนำและพันธมิตรทั่วโลก
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม โดยกล่าวว่า ในยุคปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรมได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่ไม่เคยมีมาก่อน ผ่านความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์ และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นๆ โดยบทบาทของนักวิจัยรุ่นใหม่ถือว่ามีความสำคัญ ซึ่งไม่เพียงแค่ในการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังรวมถึงการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นร่วมกันและจิตวิญญาณในการทำงานเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของโลกของเรา
Prof. Hiroshi Komiyama, Chairman of STS forum ร่วมแสดงความยินดีกับ วช. และประเทศไทยในการจัดประชุมในครั้งนี้ โดยเฉพาะการสนับสนุนบทบาทของนักวิจัย Young Leaders ในการกำหนดอนาคตของโลก
พร้อมนี้ วช. ได้จัดการเสวนาในประเด็นเรื่อง “Driving Innovation and Shaping a More Resilient, Secure, and Sustainable Future by STS forum Young Leader” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. อนรรฆ ขันธะชวนะ และนางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย วช. เป็นผู้ดำเนินรายการ และ รองศาสตราจารย์ ดร. ดุสิต อธินุวัฒน์ เป็นพิธีกร โดยมี Young Leaders จากประเทศไทยร่วมเป็น Panelist ดังนี้
1. สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ดร. อรลักษณ์ พิชิตกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
2. สาขาไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี ดร. ปภล ม่วงสนิท ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
3. สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร. เมธิณี อยู่เจริญ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
4. สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ดร. เจนจิรา ใจมั่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5. สาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ดร. ภวิตา บุญรัตน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตภูเก็ต)
ซึ่งจากการเสวนาได้มีข้อสรุปในประเด็นหลัก คือ ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคแห่งนวัตกรรมและการวิจัยที่น่าตื่นเต้น โดยมีโครงการวิจัยหลากหลายที่มุ่งแก้ปัญหาท้าทายของประเทศและโลก ตั้งแต่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปจนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ในด้านสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาเครือข่าย IoT เพื่อติดตามสภาพแวดล้อมในป่าชายเลนและการศึกษาระบบนิเวศชายฝั่ง ในด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มีการพัฒนาเครื่องมือประเมินการปฏิบัติตามกฎหมายความเป็นส่วนตัวสำหรับ SMEs ด้านการคมนาคม มีการศึกษาแนวคิด Urban Air Mobility และในด้านการแพทย์ มีการพัฒนานวัตกรรมด้านชีววัสดุและวิศวกรรมเนื้อเยื่อ โครงการเหล่านี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างผลกระทบในระดับภูมิภาคและระดับโลก
วช. ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ในการก้าวเข้าสู่เวทีในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อสร้างมาตรฐานและการยอมรับในสมรรถนะของนักวิจัยไทยและยังเป็นการสร้างเครือข่าย Global Partnership ให้เกิดขึ้นในทุกมิติด้านวิชาการอีกด้วย