ทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทยจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในเวที “The 35th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2024) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 18 พฤษภาคม 2567 ณ Kuala Lumpur City Centre (KLCC) กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย นำงานเข้าสู่เวทีโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เป็นที่น่ายินดีที่นักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลพิเศษของบนเวที ได้ถึง 2 รางวัล ได้แก่
1) รางวัล ITEX 2024 Best Invention Award - International จากผลงานเรื่อง "ผลิตภัณฑ์จักสานสร้างสรรค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านงานหัตถกรรม” โดย นายฐิติกร วงค์เลื่อน และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์จักสานสร้างสรรค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านงานหัตกรรม เป็นงานจักสานที่ผ่านการศึกษาคิดค้นและทดลองการย้อมสีจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับไผ่และก้านบัวหลวง ทั้งยังสามารถนำองค์ความรู้มาพัฒนา สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชน และสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร นักแปรรูป และนักการตลาด ถือเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่และเป็นการสร้างรายได้ตั้งแต่เกษตรกรต้นน้ำถึงปลายน้ำ
2) รางวัล ITEX 2024 Best Invention Award - Individual จากผลงานเรื่อง "C Can PLUS CBD” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น และคณะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารวิจัยคุณภาพสูง มีคุณสมบัติป้องกันระบบประสาทและต่อต้านเนื้องอก โดยมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง กำจัดจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในภาวะอาหารเป็นพิษ ลดความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการทำงาน และยับยั้งเซลล์มะเร็งควบคู่ไปกับการรักษามะเร็ง
นอกจากนี้ ยังมีประดิษฐกรรมและและนวัตกรรมไทยอีก 2 ผลงานที่ได้รับ Special Prize on stage จากองค์กรนานาชาติ ดังนี้
• Korea Invention Promotion Association (KIPA) สาธารณรัฐเกาหลี มอบรางวัลให้แก่ผลงานเรื่อง “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติกเพื่อใช้ทาลบเลือนรอยแผลเป็น” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.รมย์ฉัตร ชูโตประพัฒน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• Taiwan Invention Products Promotion Association (TIPPA) ไต้หวัน มอบรางวัลให้แก่ผลงานเรื่อง “ระบบผลิตก๊าซชีวภาพประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่” โดย ดร.วรินธร สงคศิริ และคณะ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
พร้อมนี้ ผลงานของนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยยังคว้าเหรียญรางวัลจากเวที ITEX 2024 ในประเภทต่างๆ ดังนี้
o เหรียญทอง 32 ผลงาน
o เหรียญเงิน 20 ผลงาน
o เหรียญทองแดง 2 ผลงาน
พร้อมด้วย Special Prize จากองค์กรส่งเสริมด้านการประดิษฐ์คิดค้นจากประเทศต่างๆ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนาม เกาหลี อินโดนีเซีย และไต้หวัน เป็นจำนวนมาก
ความสำเร็จของนักประดิษฐ์ไทยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของนักประดิษฐ์ไทยที่สร้างสรรค์ผลงานที่ ล้วนแต่เป็นผลงานที่มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง วช. จะส่งเสริมและต่อยอดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และการสร้างโอกาสในการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพและการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ต่อไป