สุดยอด!นักประดิษฐ์ไทย กฟผ.คว้า Platinum Award และ สวทช. รับ Diamond Award จากงาน INTARG 2024 ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำทีมนักประดิษฐ์ไทย จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)คว้ารางวัล Platinum และจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)รับรางวัล Diamond Award จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในเวที “The 17th International Invention and Innovation Show: INTARG 2024” เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ณ MCK Katowice, International Congress Centre เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล Platinum Award ได้แก่ ผลงานเรื่อง “เรือสำรวจพร้อมระบบเก็บตัวอย่างน้ำแบบปลอดเชื้ออัตโนมัติ (สำหรับเก็บตัวอย่างน้ำทางจุลชีววิทยา)” โดย นางสินีนาฏ สุนทรหิรัญวงศ์ และคณะ จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นนวัตกรรมเรือสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำแบบปลอดเชื้อระบบอัตโนมัติ สำหรับเก็บตัวอย่างน้ำในอ่างเก็บน้ำมาตรวจวิเคราะห์ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ตามวิธีมาตรฐาน (เทคนิคปลอดเชื้อ) ทดแทนวิธีการเดิมซึ่งเก็บตัวอย่างโดยนักวิทยาศาสตร์ เพื่อนำข้อมูลคุณภาพน้ำมาวิเคราะห์ ติดตามและเฝ้าระวังโรคที่มีน้ำเป็นสื่อ และวางแผนลดผลกระทบจากกิจกรรมที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำ
พร้อมกันนี้ ผลงานที่ได้รับ Diamond Award ได้แก่ ผลงานเรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างฟิล์มชีวภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมีเทนจากน้ำเสียที่มีความเค็มสูง” โดย ดร.เบญจพร สุรารักษ์ และคณะ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างฟิล์มชีวภาพจากตะกอนจุลินทรีย์ที่ผ่านการเลี้ยงเพิ่มจำนวนกลุ่มที่ใช้กรดอินทรีย์ที่ความเข้มข้นสูงและผลิตมีเทน โดยเพิ่มความสามารถของฟิล์มชีวภาพให้ทนต่อความเป็นพิษของเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่ความเข้มข้นต่างๆ นวัตกรรมนี้มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสารอินทรีย์และผลิตมีเทน
ในโอกาสเดียวกันนี้ ทีมนักประดิษฐ์ไทยยังได้รับ Special Prizes on stage จากองค์กรนานาชาติ ดังนี้
- ผลงานเรื่อง “โปรเอน แม็กซ์, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยเสริมสร้างและชะลอการย่อยสลายกล้ามเนื้อของผู้สูงวัย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ และคณะ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลจาก Polish Chamber of Patent Attorneys ประเทศโปแลนด์
- ผลงานเรื่อง “deBUG Kitchen Factory: ระบบการผลิตสารกำจัดแมลงอินทรีย์จากขยะเปลือกไข่ด้วยเครื่องครัวและเครื่องปรุงอาหาร” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ และคณะ จาก บริษัท ไบโอ-อัพ จำกัด ได้รับรางวัลจาก Polish Chamber of Ecology ประเทศโปแลนด์
- ผลงานเรื่อง “เอฟไออาร์ไพล รูปแบบบาล์มแท่ง เพื่อช่วยลดอาการปวด” โดย ดเภสัชกรหญิง ดร.ปารมิตา สุทธปรีดา เจริญตา และคณะ จาก บริษัท เซน อินโนเวชั่น กรุ๊ป จำกัด ได้รับรางวัลจาก The 1st Institute Inventors and Researchers in I.R.Iran (FIRI) ประเทศอิหร่าน
- ผลงานเรื่อง “สปริงคอยจาก NITi ขนาดเล็กจากวัสดุฉลาดสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนฟัน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ และคณะจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับรางวัลจาก World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) ไต้หวัน
- ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมโดรนแปรอักษร” โดย นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล และคณะ จาก สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับรางวัลจาก Toronto International Society of Innovation and Advanced Skills (TISIAS) ประเทศแคนาดา
- ผลงานเรื่อง “วิธีการผลิตผงนาโนคาร์บอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากชีวมวล” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนิรุทธิ์ รักสุจริต จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้รับรางวัลจาก The French Federation of Inventions Award ประเทศฝรั่งเศส
- ผลงานเรื่อง “มียัง: เซรั่มบำรุงเส้นผมที่มีศักยภาพจากสารสกัดใบชะครามที่เตรียมด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีร่วม ระหว่าง PLANT CRYSTAL และ NANOPHYTOSOMES โดยทำหน้าที่ยับยั้งเอนไซม์ 5-alpha reductase และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์รากผม สำหรับผู้ป่วยผมร่วง” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ และคณะ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับรางวัลจาก Indonesian Invention and Innovation Promotion Association (INNOPA) ประเทศอินโดนีเซีย
- ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมเครื่องล้างผักและผลไม้ด้วยเซลล์โฟโตอิเล็กโตรคะตะไลติก” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย พลเชี่ยว และคณะ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับรางวัลจาก Tunisian Association of Scientific Research, Innovation and Intellectual Property ประเทศตูนิเซีย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ร่วมในพิธีมอบรางวัลและร่วมกล่าวแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวที INTARG 2024 พร้อมกล่าวชื่นชมทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยที่ได้สร้างชื่อเสียงและการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทย ในเวทีนานาชาติในครั้งนี้ รวมทั้ง โอกาสในการส่งเสริมและต่อยอดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล เพื่อสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์และการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆในอนาคต