กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกความร่วมมือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พลิกวิกฤติจากโควิด-19 พัฒนาและเปิดใช้นวัตกรรมแพลตฟอร์ม “ระบบจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020” เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์และการบริหารสินค้าคงคลังที่ขาดสมดุล ทำให้สามารถบริหารการจัดซื้อ-รับ-กระจายเวชภัณฑ์ และโลจิสติกส์ขนส่งอย่างครบวงจร ครอบคลุมทั้งการบริจาคอัจฉริยะ (Smart Donation) และระบบจัดซื้อกลางโดยนำมาใช้แล้วในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 2,641 แห่ง
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์ ซึ่งต้องจัดเตรียมเวชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพรองรับการระบาดและภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทำให้ต้องบริหารจัดการเวชภัณฑ์ของ รพ. ทั่วประเทศกว่า 2,641 แห่ง จัดการสินค้าคงคลังเชื่อมโยงครบวงจรตั้งแต่จับคู่ข้อมูลความต้องการ (Demand) กับการจัดซื้อและการผลิต (Supplies) ที่มีประสิทธิภาพ การขนส่งและกระจายเวชภัณฑ์ที่ใช้ตรงกับสต๊อกและทั่วถึงนำไปสู่การจัดทำ “ระบบจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020” (Smart Medical Supply Platform 2020) เป็นระบบกลางของประเทศเป็นครั้งแรก
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า อว. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลมหาวิทยาลัยรวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมโดยเฉพาะงานวิจัยที่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งระบบจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020 ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยที่พัฒนาระบบบริหารจัดการเวชภัณฑ์แบบออนไลน์เพื่อให้โรงพยาบาลได้รับเวชภัณฑ์ตรงตามความต้องการทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพได้
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาประเทศ และแก้ปัญหาที่สำคัญทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวโดยงานวิจัยต้องใช้ประโยชน์ได้จริงและตรงตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งได้สนับสนุนโครงการ “ระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาเพื่อรองรับสถานการณ์ COVID-19”เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการเวชภัณฑ์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้เกิดความสมดุลและเป็นไปตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้พัฒนาเสร็จแล้วและได้นำไปใช้บริหารจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในปัจจุบันและเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักการทำงานของ “ระบบจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020” เริ่มจากการรับข้อมูลรายการสินค้าที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลางหรือของบริจาคเข้ามาหน้าเว็บไซต์ตามรายการสินค้าในระบบฐานข้อมูล การจัดสรรมีหลักการพิจารณาจากความต้องการเร่งด่วนและปัจจัยต่างๆ ของการระบาด และสถานการณ์ของโรงพยาบาล จากนั้นข้อมูลจะไหลเข้าระบบสต๊อก หรือสินค้าคงคลังเสมือน (Virtual Stock) โดยจะวิเคราะห์และจัดสรรให้ตรงกับความต้องการของฝั่งโรงพยาบาลโดยการจับคู่ (Match) จากจำนวนผู้ป่วย จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ปริมาณที่มีอยู่ อัตราการใช้ และระดับความรุนแรง เป็นต้น โดยสามารถระบุได้ว่าต้องจัดสรรอะไร กระจายไปที่ใดและจำนวนเท่าไร เพื่อส่งต่อไปที่ระบบขนส่งแล้วกระจายเวชภัณฑ์ดังกล่าวต่อไป
นายพีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทรีบิวชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทรีบิวชั่น จำกัด เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เข้าร่วมการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบบริหารโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ โดยสนับสนุนข้อมูลและดำเนินงานด้านการขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งบริษัทไปรษณีย์ไทยมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกระจายและขนส่งเวชภัณฑ์ไปยังโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวสรุปถึงประโยชน์ของ “ระบบบริหารจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020” ทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลกลางด้านสาธารณสุขสำหรับสินค้าเวชภัณฑ์ สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และตอบโต้สถานการณ์โรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านการใช้จำนวนสต๊อกของเวชภัณฑ์ การคาดคะเนปริมาณความต้องการในอนาคตได้ ด้านกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาครัฐสามารถประหยัดต้นทุนด้านสาธารณสุข สร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการการกระจายเวชภัณฑ์ด้วยระบบ Matching บนสถานการณ์และข้อมูลที่แท้จริงสำหรับโรงพยาบาลทั่วประเทศ จะได้รับสินค้าตรงตามต้องการจริงในเวลาที่รวดเร็ว ลดภาระต้นทุน ในการมีสต๊อกเวชภัณฑ์ที่ขาดหรือเกินความต้องการ ด้านผู้จัดหาผลิตภัณฑ์สามารถวางแผนบริหารจัดการการผลิตเวชภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องขนส่งสินค้าเข้ามาที่ส่วนกลางสามารถกระจายสินค้าไปยังโรงพยาบาลที่ต้องการโดยตรงได้ทันที ส่วนผู้บริจาคสามารถบริจาคเวชภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของโรงพยาบาลและจำนวนที่ใช้จริง