2 April 2024

วช.ตอบโจทย์สาธารณสุขและผู้สูงวัย สนับสนุนนวัตกรรม “เครื่องคัดกรองผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์” รางวัลการวิจัยแห่งชาติ 2567

วช.ตอบโจทย์สาธารณสุขและผู้สูงวัย สนับสนุนนวัตกรรม “เครื่องคัดกรองผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์” รางวัลการวิจัยแห่งชาติ 2567
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดแถลงข่าว “NRCT Talk : รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 ครั้งที่ 5” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนางานผลงานประดิษฐ์คิดค้น และเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทย ในสาขาวิชาการต่าง ๆ ของประเทศชาติ ซึ่งครั้งนี้ ได้เปิดตัวนวัตกรรมเครื่องคัดกรองผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย วช.
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. จัดกิจกรรม “NRCT Talk รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2567 ครั้งที่ 5” เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัย ในการพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ซึ่ง ผลงาน “เครื่องคัดกรองผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์” ของ รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็น 1 ในผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567
รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 25 เป็นโรคกระดูกพรุนโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว และการคัดกรองโรคกระดูกพรุน สามารถทำได้โดยเครื่องวัดมวลกระดูกใช้รังสีเอกซ์ มีขนาดใหญ่ ราคาแพง มีเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทำให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่มีฐานะยากจนหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ จากปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการคิดค้นเครื่องคัดกรองโรคกระดูกพรุน ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกแบบพกพาด้วยการเรียนรู้ผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI)” ซึ่งเป็น “เครื่องตรวจคัดกรองเครื่องแรกของโลก” มีระดับความน่าเชื่อถือที่ยอมรับได้สำหรับการคัดกรองเบื้องต้น โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องเอกซเรย์ขนาดใหญ่ แต่มีราคาถูก น้ำหนักเบา เคลื่อนที่สะดวก ง่ายต่อการใช้งาน ทุกคนสามารถใช้ได้ไม่อันตราย ระบบแสงพลังงานต่ำที่ปลอดภัย ไม่ต้องมีนักรังสีเทคนิค และใช้เวลาเพียง 1 นาที โดยผลตรวจแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ แถบสีเขียว หมายถึง มวลกระดูกอยู่ในภาวะปกติ แถบสีเหลือง หมายถึง กระดูกบาง มีความเสี่ยงต้องระวัง และ แถบสีแดง หมายถึง มวลกระดูกมีความหนาแน่นในระดับที่เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน
ทั้งนี้ เครื่องคัดกรองผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ เป็นเครื่องที่ไม่ใช้รังสีแต่ใช้แสงพลังงานต่ำไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อส่งข้อมูล ตัวเครื่องขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และสามารถเคลื่อนย้ายได้ ปัจจุบันได้ดำเนินการผลิตเครื่องคัดกรองผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ จำนวน 10 เครื่อง ได้นำไปทดลองใช้ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรีแล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ กล่าวทิ้งท้ายว่า เครื่องมือนี้สามารถใช้งานการแพทย์ทางไกล เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาลตามต่างจังหวัดที่ห่างไกล ในพื้นที่ ที่มีอินเทอร์เน็ต สามารถใช้งานได้ง่าย เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจวัดมวลกระดูกได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับกิจกรรม “NRCT Talk : รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2567” ในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป
Print

Categories