22 May 2021

วช.หนุน GISTDA พัฒนา COVID-19 iMap ให้สามารถคาดการณ์ผลที่จะเกิดในอนาคต

วช.หนุน GISTDA พัฒนา COVID-19 iMap ให้สามารถคาดการณ์ผลที่จะเกิดในอนาคต

                   "ข้อมูล" เป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการวิเคราะห์เพื่อให้การตัดสินใจแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด  แต่ภายใต้สถานการณ์วิกฤตที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระจายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจึงมีอยู่เป็นจำนวนมาก และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รูปแบบการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และทันต่อสถานการณ์   จึงเป็นเรื่อสำคัญที่ทำให้การตัดสินใจแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล

                   นายตติยะ  ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า (GISTDA) เปิดเผยว่า เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก GISTDA ได้พัฒนาระบบข้อมูลที่เรียกว่า COVID-19 iMap ซึ่งเป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีปริมาณข้อมูลอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาเสนอในรูปแบบของแผนที่ดิจิทัลและแดชบอร์ด (Dash Board: เป็นการนำข้อมูลมาสรุปให้เห็นเป็นภาพในหน้าเดียว) โดยนำภาพจากดาวเทียมมาใช้ประกอบการกำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อรายอำเภอ รายจังหวัด การกระจายตัวของโรค หน้ากากอนามัย ฯ ในพื้นที่ต่างๆ  เพื่อสนับสนุนการทำงาน ประกอบการตัดสินใจของศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.)  และผู้ใช้งานที่ปฏิบัติการจากหน่วยงานส่วนกลางและระดับจังหวัดในการบริหารจัดการทรัพยากรด้านสาธารณสุข แต่เมื่อเกิดการระบาดในรอบที่ 2   GISTDA ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้พัฒนาระบบพัฒนาระบบ iMAP สำหรับใช้บริหารสถานการณ์ฯ ในพื้นที่กรุงเทพ ฯโดยบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กทม. กรมควบคุมโรค  วช. อว.  เพื่อรวบรวมข้อมูลที่ตั้งโรงพยาบาลสนามตามจุด ต่างๆ ข้อมูลชุมชนแออัดจากการเคหะแห่งชาติ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการรายงานผล และใช้ประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบายให้กับ ศปก.ศบค. ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารทรัพยากรทางการแพทย์ได้อย่างเต็มศักยภาพ และการกำหนดเป็นมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อลดการแพร่ระบาดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ได้อย่างรวดเร็ว และในช่วงการระบาดในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร  ระบบ iMAP ก็ยังถูกนำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อรายงานและติดตามข้อมูลเชิงพื้นที่ สถานการณ์การระบาด การกระจายตัวของโรค  และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่แต่ละแห่ง เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อลดการแพร่ระบาด  นอกเหนือจากการรายงานข้อมูลพื้นฐานแล้ว ในอนาคตคาดหวังว่า ระบบ COVID-19 iMap จะช่วยคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น หากมีการเคลื่อนย้ายคน มีการล็อคดาวน์ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร  โดยอาจจะต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องมาร่วมงาน  ภายใต้โครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. GISTDA ได้นำระบบ iMAP ไปใช้งานที่จังหวัดภูเก็ตภายใต้โครงการ Travel Bubble เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทย  ขณะเดียวกันก็จะวิจัยและพัฒนาโมเดลเพื่อให้ COVID-19 iMap มีประสิทธิภาพและสามารถในคาดการณ์ถึงผลที่เกิดขึ้นอนาคตได้ นอกเหนือจากการรายงานสถานการณ์ ข้อมูลต่างๆ และการวิเคราะห์พื้นฐานอย่างเช่นที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

                   ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การพัฒนาระบบ COVID-19 iMap  น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ สนใจในการพัฒนาระบบข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบมาตรฐาน  มีความเป็นเอกภาพ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ทั้งในระดับหน่วยงาน ระดับพื้นที่ จนถึงระดับประเทศ  ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศในการใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจในเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชาติ  และของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

Print

Categories