12 June 2024

วช. ผลักดัน “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง พื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย” ปีที่ 2

วช. ผลักดัน “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง พื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย” ปีที่ 2

วันที่ 11 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดตัวโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง พื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย” ปีที่ 2 (Kick Off)  ซึ่งเป็นโครงการที่ วช. ให้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2566 ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ แห่ง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.พัทรียา หลักเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และนางสาวธรรมภรณ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 3 ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมอินทรภูวศักดิ์ ชั้น 8 อาคารนราธิปพงศ์ประพันธ์

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ กล่าวว่า วช. มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนนักวิจัยและคณะผู้วิจัยในการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและส่งผลต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โครงการวิจัยนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ วช. ที่มุ่งหวังส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อประเทศชาติ ผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมวิจัย นำไปสู่การบรรลุความเป็นเลิศทางการวิจัย การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม การวางแผนและพัฒนากลไกที่เหมาะสม และผลักดันให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ภายใต้โครงการส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ที่มุ่งเน้นไปที่การศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งบนพื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดตราด และจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยคาดหวังว่า ผลลัพธ์ของโครงการวิจัยนี้ จะนำไปสู่แนวทางและกลไกที่ชัดเจนในการสร้างชุมชนเข้มแข็งบนพื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

 

ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาธิปไตยระดับชุมชนท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เนื่องจากองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นประชาธิปไตยได้คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับชุมชนท้องถิ่น การที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองในเรื่องสำคัญของชุมชน ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน และโดยประชาชน การเสริมสร้างและการพัฒนาวัฒนธรรมแบบพลเมืองหรือวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยให้เกิดกับประชาชนทั่วไปนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย จึงต้องอาศัยสถาบันและองค์กรต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน การสร้างจิตสำนึกแบบพลเมือง สร้างความเป็นพลเมืองในโรงเรียนให้แก่เด็กนักเรียนนับตั้งแต่วัยเยาว์ จะช่วยเสริมสร้าง และพัฒนาให้ประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นด้วย วิจัย และนวัตกรรม เป้าหมายและแนวทางทั้งหมดในการเสริมสร้างและพัฒนาประชาธิปไตยระดับชุมชนท้องถิ่นต่อไปในอนาคต

 

ทั้งนี้  โดยโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งพื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย” ปีที่ 2 จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน โดยการขับเคลื่อนผ่านพื้นที่กลางระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติ เพื่ออาศัยความเข้มแข็งของชุมชน ในพื้นที่ระดับต่าง ๆ พัฒนามาสู่การสร้างประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทยอันจะเป็นรากฐานของประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างแท้จริง โดยเป็นประชาธิปไตยที่ความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป ต่อเนื่องจากโครงการเดิมที่ผ่านมา

Print

Categories