23 October 2023
วช. ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสิ่งประดิษฐ์ ระดับอาชีวศึกษา
วันที่ 20 ตุลาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดปาฐกถาพิเศษเพื่อชี้แจงกรอบการให้ทุนภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสิ่งประดิษฐ์ระดับอาชีวศึกษา (Invent Plus) ประจำปีงบประมาณ 2567 โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประธานกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ความจำเป็นและความสำคัญของการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสิ่งประดิษฐ์ระดับอาชีวศึกษา” พร้อมด้วย ผู้บริหาร วช. ผู้ทรงคุณวุฒิ และอาจารย์ที่ปรึกษาของผลงานนวัตกรรมระดับอาชีวศึกษา เข้าร่วมงาน ณ ห้อง Ballroom AB โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ภาคส่วนผู้ประกอบการ และตลาดแรงงานมีความต้องการบุคลากรด้านอาชีวศึกษา โดยประเด็นด้านยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมเพื่อการแข่งขัน และการเตรียมความพร้อมศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมาความร่วมมือการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา ระหว่าง วช. และ สอศ. โดยในกรอบของความร่วมมือ วช. ได้ตระหนักถึงการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้มีมาตรฐานและคุณภาพรวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา
ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ในด้านการพัฒนากำลังคนตามยุทธศาสตร์ วช. ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ในเรื่องของกรอบการให้ทุนภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสิ่งประดิษฐ์ระดับอาชีวศึกษา (Invent Plus)
ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อเพิ่มเติม พัฒนา สนับสนุนและต่อยอดขยายผลสิ่งประดิษฐ์ให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพ และมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับและตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และการผลิตที่จะนำไปพัฒนาประเทศยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสิ่งประดิษฐ์ ระดับอาชีวศึกษาอย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย กิจกรรมเสวนาเรื่อง “แนวทางการเขียนข้อเสนอการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับอาชีวศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน (Invent Plus)” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ และอาจารย์ที่ปรึกษาของผลงานนวัตกรรมระดับอาชีวศึกษา ศ.พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังสี ผู้ทรงคุณวุฒิ, ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และ รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ จาก มาหวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ให้ความรู้
ถึงแนวทางการเขียนข้อเสนอ
ทั้งนี้ การชี้แจงกรอบการให้ทุนภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสิ่งประดิษฐ์ระดับอาชีวศึกษา (Invent Plus) ประจำปีงบประมาณ 2567 จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งในด้านระบบวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การจัดการความรู้ด้านอาชีพภายใต้บทบาทหน้าที่และการให้บริการวิชาชีพ เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งและร่วมขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคน เยาวชน
ในระดับอาชีวศึกษาที่เชื่อมโยงกับพื้นที่กลุ่มจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ และบุคลากรระดับอาชีวศึกษาต่อไป