14 May 2024

วช. ร่วมกับ Association of Asian Social Science Research Councils (AASSREC) เสริมสร้างเครือข่ายการวิจัยและความร่วมมือด้านสังคมศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

วช. ร่วมกับ Association of Asian Social Science Research Councils (AASSREC) เสริมสร้างเครือข่ายการวิจัยและความร่วมมือด้านสังคมศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
วันที่ 9 - 10 พฤษภาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ Association of Asian Social Science Research Councils (AASSREC) จัดการประชุมระดับภูมิภาคเรื่อง “Social Science Funding and Collaboration in the Indo-Pacific: Regional Summit” ณ โรงแรม Eastin Grand Hotel Phayathai โดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม พร้อมด้วย Prof. Dhananjay Singh ประธานคณะกรรมการบริหาร AASSREC คุณพินิจ จันทรังสี ที่ปรึกษาระดับภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค กรุงเทพฯ และ Dr. Matthew L. Wallace ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส International Development Research Centre (IDRC) ประเทศแคนาดา โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจาก 23 ประเทศ ได้แก่ ไทย ปาปัวนิวกินี คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย กัมพูชา เกาหลีใต้ มาเลเซีย เนปาล บังกลาเทศ จีน ศรีลังกา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น ฟิจิ อิตาลี แคนาดา และฝรั่งเศส 
ณ Eastin Grand Hotel กรุงเทพมหานคร

นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยงานหลักด้านการสนับสนุนทุนวิจัยของประเทศไทย วช. มุ่งเน้นส่งเสริมผลลัพธ์งานวิจัยที่มีผลกระทบเชิงนโยบาย เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และวิชาการ เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญของชาติและภูมิภาค สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว วช. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ โดยเล็งเห็นถึงบทบาทสำคัญของศาสตร์เหล่านี้ในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างรอบด้านและแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนหลากหลายมิติ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่บูรณาการ่วมกัน การนำประโยชน์จากเงินทุนวิจัยทางสังคมศาสตร์ และการกำหนดลำดับความสำคัญของความริเริ่มระดับภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกันพันธกิจของ วช. และไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดมุมมองทางด้านวิชาการใหม่ แต่ยังจะปูทางไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ในการนี้ นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 ได้ร่วมนำเสนอใน Session ที่ 2 ภายใต้หัวข้อ“Innovation, Impact & Translation” ซึ่งเป็นการหารือเกี่ยวกับกลไกการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์และการสร้างผลการวิจัยให้เกิดผลกระทบสูงสุด โดยได้นำเสนอ เรื่อง “Fostering Transformative Impact & Translation: NRCT’s Strategies for Translating Research and Innovation” ซึ่งยกกรณีการปรับโครงสร้างระบบการศึกษา วิจัยและนวัตกรรมของไทย กลไกการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในลักษณะ Demand Driven และรูปแบบการถ่ายทอดงานวิจัยและนวัตกรรมให้เข้าถึงผู้ใช้ซึ่งอาจเป็นบริษัทเอกชนหรือชุมชนท้องถิ่น
พร้อมทั้ง ดร. ฐิตาภรณ์ กนกรัตน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นักวิจัยผู้ได้รับทุนจาก วช. ได้ร่วมเป็น Chair ในหัวข้อ “Funding Social Science Research in the Indo-Pacific: A focus on Ethics & AI“ ซึ่งเป็นการหารือเกี่ยวกับจริยธรรมและการกำกับดูแลการใช้ AI ในการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ ความท้าทายและการรักษาความสุจริตของข้อมูล การดำเนินงานวิจัยในกลุ่มชุมชนเปราะบางอย่างมีจริยธรรม และการปรับวิถีการขอความยินยอม (Informed Consent) ในกระบวนการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ให้เข้ากับบริบทจริยธรรมร่วมสมัย เป็นต้น และในช่วงสุดท้ายของการประชุมวันแรก น.ส. สิริธรรม ณ ระนอง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย วช. ได้เป็นผู้แทนของผู้เข้าร่วมประชุมกล่าวสรุปประเด็นสำคัญจากการประชุมตลอดทั้งวัน
นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าวยังได้มีการแลกเปลี่ยนมุมองของหน่วยงานให้ทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น
- ประเด็นเรื่อง “Knowing Social Sciences: Can Evidence Make Asia’s Research Systems More Performing and More Resilient?” โดยเป็นการหารือเกี่ยวกับความสำคัญของข้อมูลหลักฐาน (Evidence) ที่เข้มแข็งในระบบการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ที่นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุด
- ประเด็นเรื่อง “Collaborating with Impact” โดยมีการนำเสนอตัวอย่างโครงการความร่วมมือด้านการให้ทุนวิจัยที่ประสบความสำเร็จ โดยได้มีการนำเสนอรูปแบบโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยที่ประสบความสำเร็จ และสามารถผลักดันให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสังคมและการกำหนดนโยบาย เช่น Belmont Forum, Global Development Network (GDN) และโครงการความร่วมมือต่างๆกับหน่วยงานในภูมิภาคเอเชียของรัฐบาลสวีเดน เป็นต้น รวมถึงความท้าทายที่แฝงอยู่ในโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ
- ประเด็นเรื่อง “Building a Community of Practice through AASSREC” โดยเป็นการหารือการสร้างชุมชนการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ที่เข้มแข็งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ผ่านการเป็นสมาชิกของ AASSREC รวมทั้งโอกาสในการเชื่องโยงกันระหว่างโปรแกรมการสนับสนุนการวิจัยของ AASSREC และโปรแกรมการจัดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Management of Social Transformation: MOST) ขององค์การยูเนสโก

อนึ่ง การประชุมดังกล่าวเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งภายใต้โครงการ “Boosting Social Sciences and their Contribution to Better Lives across the Indo-Pacific” ซึ่ง AASSREC ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก International Development Research Centre (IDRC) ประเทศแคนาดา เพื่อส่งเสริมศักยภาพการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยประกอบไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการ ได้แก่ โครงการวิจัยด้านสถานภาพการวิจัยสังคมศาสตร์ของภูมิภาค การประชุมหน่วยงานให้ทุนด้านสังคมศาสตร์ การให้ทุนโครงการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ในหัวข้อที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาค การให้ทุนสนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือระหว่างนักวิจัยในภูมิภาค การจัดทำชุดเอกสารเชิงนโยบาย (Working papers) โครงการจับคู่ให้คำปรึกษาระหว่างนักวิจัยอาวุโสและนักวิจัยรุ่นใหม่ในภูมิภาค (Regional Mentoring Program) การจัดการประชุมใหญ่ของ AASSREC ณ ประเทศอินเดียในปี 2568 และเงินสนับสนุนค่าบำรุงสมาชิก AASSREC แก่ประเทศรายได้ต่ำ
Print

Categories