31 July 2024

วช. หนุนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและวลัยลักษณ์ พัฒนาวิจัยสมุนไพรไทยและเทคโนโลยีไมโครเวฟลดคาร์บอน

วช. หนุนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและวลัยลักษณ์ พัฒนาวิจัยสมุนไพรไทยและเทคโนโลยีไมโครเวฟลดคาร์บอน


















วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพสมุนไพรไทยและพัฒนาการแปรรูปสมุนไพรโดยใช้เทคโนโลยีการให้ความร้อนด้วยคลื่นไมโครเวฟร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่ การวิจัยสมุนไพรไทย ที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเกี่ยวกับสมุนไพรไทย ตั้งแต่การปลูก สกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ และเทคโนโลยีไมโครเวฟ ที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปสมุนไพรด้วยไมโครเวฟเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียสารสำคัญ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จัดขึ้นภายในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ โดยได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ที่ปรึกษาโครงการศูนย์กลางความรู้ต้นแบบด้านสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์ทางสุขภาพอย่างยั่งยืน เป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สถานการณ์การวิจัยด้านสมุนไพรในคน” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม ณ ห้องประชุม MR 205 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร


พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง กล่าวเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของสมุนไพรไทยที่มีต่อสุขภาพคนไทยมาอย่างยาวนาน ภูมิปัญญาพื้นบ้านเกี่ยวกับสมุนไพรได้ถูกถ่ายทอดผ่านรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบัน สมุนไพรไทยยิ่งได้รับความนิยมและถูกนำมาใช้รักษาโรคและดูแลสุขภาพกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การวิจัยสมุนไพรในคนสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ การวิจัยทางเภสัชวิทยา คือ การศึกษาสรรพคุณ ประสิทธิภาพ และกลไกการออกฤทธิ์ของสมุนไพรในสัตว์ทดลอง การวิจัยทางคลินิก คือ การศึกษาประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และผลข้างเคียงของสมุนไพรในมนุษย์ และการวิจัยทางระบาดวิทยา คือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้สมุนไพรกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพในประชากรกลุ่มใหญ่ อย่างไรก็ตาม การวิจัยสมุนไพรในคนยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การออกแบบการวิจัยที่เหมาะสม การควบคุมคุณภาพของสมุนไพร และความปลอดภัย แต่เชื่อว่าในอนาคตจะมีการวิจัยในด้านนี้มากขึ้นอย่างแน่นอน


หลังจากการลงนามข้อตกลงแล้ว ยังมีการบรรยายเสวนาที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ แนวทางการวิจัยทางคลินิกของตำรับยาสมุนไพรสู่มาตรฐานสากล, แนวทางการใช้ประโยชน์จากการวิจัยทางคลินิกสู่เชิงพาณิชย์, ปัญหาและความท้าทายของการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพร


วช. มุ่งหวังว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ


วช. ขอเชิญชวนผู้สนใจ เข้าร่วมงาน "อว. แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND" สัมผัสประสบการณ์สุดล้ำ พบกับนวัตกรรมล้ำสมัย ผลงานวิจัยสุดล้ำ และกิจกรรมมากมาย ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
Print

Categories