17 January 2025

วช. และ สวก. ผนึกกำลังกับ สกสว. จ.เชียงใหม่ และหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จัดทำแผนระยะ 5 ปี เพื่อการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยงานวิจัย นวัตกรรม และกลไกภาคี PES

วช. และ สวก. ผนึกกำลังกับ สกสว. จ.เชียงใหม่  และหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จัดทำแผนระยะ 5 ปี เพื่อการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยงานวิจัย นวัตกรรม และกลไกภาคี PES

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การจัดทำแผนเพื่อการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ระยะเวลา 5ปี ของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยงานวิจัย นวัตกรรม และกลไกภาคี PES (Payment for EcosystemService)" เมื่อวันที่ 13 - 14 มกราคม 2568 ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท จ.เชียงใหม่  โดยได้รับเกียรติจาก นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเปิดการประชุมฯ ได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ปาฐกถาเรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 8 เป้าหมายสำคัญ ของ กสว. และการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 มุ่งเป้าภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด” ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาเรื่อง “วิสัยทัศน์และบทบาทของ สกสว. ในการนำผลงาน ววน. มาใช้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วนของประเทศ” และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึง “แนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยและการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ วช. ในระยะ 2 ปี” ทั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. มอบหมายให้ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการติดตามแผนงาน “งานวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ฝุ่นละออง PM2.5 แบบบูรณาการและมุ่งเป้า” พร้อมกรรมการติดตามแผนงานฯ วช. ประกอบด้วย ดร.ดาเรศร์ กิตติโยภาส ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา นายประลอง ดำรงไทย รศ. ดร.ชาลี นาวานุเคราะห์ รศ. ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล ดร.เกศศินี อุนะพำนัก และ นางสาวกรรณิกา ดุรงคเดช ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทน วช. เข้าร่วมการประชุมฯ

 

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ว่า  เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับ สกสว. เพื่อเป็นเวทีให้กับหน่วยงานบริหารจัดการทุน หน่วยวิจัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำกระบวนการวิจัย และการบูรณาการวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมกันระดมความเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การทำงาน นำองค์ความรู้และงานวิจัยพร้อมใช้ หลายๆ วิธีการ มาสนับสนุนการแก้ปัญหาในชุมชนให้ตรงจุด โดยการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จะมีบทบาทในการจัดทำแผนเพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ยินดีมาก และพร้อมให้ความร่วมมือ ขับเคลื่อน ดำเนินการอย่างเต็มที่ รวมทั้งสนับสนุนการนำองค์ความรู้ และนวัตกรรมจาก กองทุน ววน. ไปใช้แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของจังหวัดต่อไป

 

ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธาน กสว. กล่าวว่า จากนโยบายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ กสว. 8 เป้าหมายสำคัญ หนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทยต้องปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 ในปี 2569  และกำหนดพื้นที่เบื้องต้นใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน  โดยเป็นการขยายผลของการนำเอางานวิจัยมาใช้แก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5  ทำงานแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ "SRI for ALL" ของ สกสว. ที่นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ สกสว. และหน่วยงานภาคี ร่วมกัน "คิกออฟ" กระบวนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือตอนบนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทางกองทุน ววน. ได้จัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 พื้นที่ จ.เชียงใหม่ ในปีงบประมาณ 2566 – 2567 ประมาณ 130 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2568 ขยายพื้นที่ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน งบประมาณทั้งสิ้น 450 ล้านบาท และคาดว่าจะจัดสรรงบฯ เพิ่มเติมอีกในปีต่อไปอีก 450 ล้านบาท รวม 2 ปี 900 ล้านบาท

 

ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. ในฐานะเลขา กสว. มีบทบาทในการนำองค์ความรู้งานวิจัย และนวัตกรรมมาใช้แก้วิกฤต PM2.5 โดยที่ผ่านมา ระบบ ววน. มีการแผนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนงานวิจัยเพื่อ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 มา อย่างต่อเนื่อง 1) แผนงาน Haze Free Thailand และปัญหา PM2.5 (สนับสนุนทุนในปี2563-2567) 2) แผนงาน P24 แก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ โดยมุ่งประเด็นวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนฝุ่นละออง PM2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ (สนับสนุนทุนในปี2566-2567) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMUs) ทั้งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ร่วมกันโดยกำหนดกลุ่มการดำเนินงานเป็น Work Package (WP) ตามมิติการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการการขยายผลเพื่อบูรณาการความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ต่อไปในยุทธศาสตร์เป้าหมายของ สกสว.

 

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมที่เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วน จึงกำหนด แผนงานวิจัยและนวัตกรรม Haze Free Thailand และ ปัญหา PM2.5 ไว้ ภายใต้ แผนงาน  P15 พัฒนาและเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการบริโภคอย่างยั่งยืนและการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งได้กำหนดกรอบการวิจัยเป็น 5 กรอบการวิจัย ดังนี้ 1) การพยากรณ์ และคาดการณ์ 2) การลด PM2.5 จากแหล่งกำเนิด 3) การบรรเทาปัญหา 4) การสร้างความรับรู้ของประชาชน และ 5) การบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปลดปล่อย PM2.5 จากแหล่งกำเนิด และจำนวนวันที่มีประมาณ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานลดลง

โดย ในปี 2566 วช. ร่วมกับ สวก. ดำเนินการเชื่อมโยงงานวิจัยและนวัตกรรมกับการทำงานของหน่วยงานเพื่อการแก้ปัญหา PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (พื้นที่เป้าหมาย อ.แม่แจ่ม และพื้นที่อุทยานฯ ดอยสุเทพ-ปุย) ใน 5 มิติ ดังนี้ (1) บูรณาการฐานข้อมูลกลาง Big Data (2) ลดการเผาพื้นที่เกษตร/เกษตรในพื้นที่สูง (3) ลดการเผาและการจัดการไฟในพื้นที่ป่าไม้ (4) ลดควบคุมปริมาณการปล่อยไอเสียจากการคมนาคมในพื้นที่เมือง  (5) ยกระดับมาตรการและกลไกในการลดฝุ่นควันข้ามแดน  ในปี 2567 มีการเพิ่มเติมอีก 1 มิติ คือ (6) นโยบายและการสื่อสารเชิงรุก ส่วนในปี 2568 – 2569 ภายใต้แผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. : ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 ภายใน 2 ปี มีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการดำเนินงาน จำนวน 3 เป้าหมาย ดังนี้

 

 1) ลดจำนวนวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ไม่เกิน 50 วัน/ปี ของพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด

 2) ลดจำนวนสถิติผู้ป่วย COPD ที่แอดมิทครั้งแรก จากสาเหตุฝุ่น ไม่ให้เกิน 1,000 คน/ปี ของพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด

 3) ลดจำนวน Hotspot (จากแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 จากการเผาในที่โล่ง) ที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่เกิน 4,000 จุด/ปี ของพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด

 

นอกจากนี้ ในการประชุมจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อหาช่องว่างของปัญหา และแนวทางการทำงานร่วมกับโครงการที่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมได้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนความต้องการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในระบบวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ให้ร่วมแก้ปัญหาอย่างมีเป้าหมายและเป็นรูปธรรม

Print

Categories