26 December 2024

CASS นำคณะ วช. เยือนพิพิธภัณฑ์จีนโบราณ (Imperial College, Guozijian) แหล่งเรียนรู้การศึกษาวิจัยด้านประวัติศาสตร์การศึกษาของจีนในอารยธรรมมากกว่า 700 ปี

CASS นำคณะ วช. เยือนพิพิธภัณฑ์จีนโบราณ (Imperial College, Guozijian) แหล่งเรียนรู้การศึกษาวิจัยด้านประวัติศาสตร์การศึกษาของจีนในอารยธรรมมากกว่า 700 ปี














เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 สถาบันสังคมศาสตร์จีน Chinese Academy of Social Sciences, CASS นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย และคณะจาก วช. ศึกษาดูงานการจัดการพิพิธภัณฑ์วิทยาลัยจีนโบราณ (Imperial College, Guozijian) และสถาปัตยกรรมวัดขงจื่อ แหล่งเรียนรู้ระดับนานาชาติ (Confucius Temple) โดยมี Dr.Li Zhifei, Director of Research Institute, National Institute of International Strategy, Chinese Academy of Social Sciences, CASS ให้การต้อนรับ และ Mr. Wu Ming,Director of the imperial college and the temple of Confucius นำคณะจาก วช. เรียนรู้การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทางสถาบันการศึกษาขั้นสูงในประวัติศาสตร์จีน ณ สถานที่ดังกล่าว

การศึกษาดูงานในครั้งนี้ สืบเนื่องจากความร่วมมือ วช.-CASS ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนความร่วมมือด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ระหว่างไทย-จีน และจีน-อาเซียน ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่าง วช.และ CASS รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านประวัติศาสตร์ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรมของจีน
พิพิธภัณฑ์วิทยาลัยจีนโบราณ (Imperial College, Guozijian) เป็นวิทยาลัยหลวงแห่งสุดท้ายในสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณสถานสำคัญภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาลจีน เป็นวิทยาลัยหลวงแห่งเดียวจากสมัยโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยอาคารสถาปัตยกรรมอันงดงาม อาคารส่วนใหญ่ของกัวจื่อเจี้ยนสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงและยังคงเป็นมรดกที่สำคัญของจีน
Imperial College, Guozijian สร้างขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1306 ของการครองราชย์จื้อหยวนแห่งราชวงศ์หยวน และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงรัชสมัยหย่งเล่อและเจิ้งถงแห่งราชวงศ์หมิง ในช่วงการปฏิรูปของราชวงศ์ชิง การศึกษาและการบริหารงานด้านการศึกษาของกัวจื่อเจี้ยนถูกแทนที่ด้วยมหาวิทยาลัยหลวงปักกิ่งเป็นหลัก ซึ่งต่อมากัวจื่อเจี้ยนถูกปิดตัวลงในปี ค.ศ.1905 กัวจื่อเจี้ยนเป็นสถาบันการเรียนรู้แห่งชาติในราชวงศ์จีนโบราณ ถือเป็นสถาบันการเรียนรู้ระดับสูงสุดในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมของจีน จากนั้น ได้นำชมพระราชวัง 6 หลังที่มี 33 ห้องอยู่ทางด้านตะวันออกและตะวันตก ซึ่งสมัยก่อนเป็นที่ที่นักเรียนใช้เรียน นอกจากนี้ ยังมีมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า เช่น หนังสือและจารึกหิน แผ่นศิลาจารึกที่มีค่าที่สุดคือแผ่นศิลาจารึก 189 แผ่นที่แกะสลักว่า "คัมภีร์ 13 เล่ม" ถือเป็นแหล่งความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองและคุณธรรม โดยขงจื่อและปรัชญาที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการเรียนการสอน ในด้านวัฒนธรรม เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนความรุ่งเรืองของระบบการศึกษาจีนโบราณ ซึ่งช่วยส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาในบริบทของวัฒนธรรมเอเชีย
ต่อจากนั้น ได้นำชมวัดขงจื่อ Confucius Temple สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หยวนในศตวรรษที่ 14 มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 700 ปี แสดงถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน รูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และความหมายเชิงราชวงศ์ที่ลึกซึ้ง ในอดีตสถานที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่สอบข้าราชการ “การสอบจอหงวน” ขงจื่อ เป็นนักคิดและนักปรัชญาสังคมที่มีชื่อเสียงของจีน คำสอนของขงจื่อฝังรากลึกลงไปในสังคมเอเชียตะวันออกมาเป็นเวลาถึง 20 ศตวรรษ หลักปรัชญาของขงจื่อเน้นหนักในการบ่มเพาะเรื่องเมตตาธรรม ความชอบธรรม และจารีตประเพณี คำสอนของขงจื่อเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและงดงามอย่างยิ่ง ความคิดของขงจื่อได้กลายเป็นแกนหลักสำคัญในวัฒนธรรมจีน และมีอิทธิพลสำคัญต่อความคิดของชนชาติจีน คุณธรรมอันดับแรก ที่ขงจื่อสอนสั่งคือ “เหริน” หรือเมตตาธรรม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวขอบคุณผู้บริหารจาก CASS และ Mr. Wu Ming,Director of the imperial college and the temple of Confucius สำหรับการต้อนรับและการแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นต่างๆ โดยสิ่งที่ได้จากการศึกษาเรียนรู้และวิจัยด้านประวัติศาสตร์การศึกษาของจีนในอารยธรรมมากกว่า 700 ปี จะนำไปสู่การดำเนินงานในกรอบความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยสังคมศาสตร์ของจีนและไทย CASS และ วช. พร้อมด้วยกลไกความร่วมมือต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้เป็นต้นแบบการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานและการจัดการศูนย์ส่งเสริมการวิจัยเพื่อมรดกทางวัฒนธรรม ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในระยะต่อไป
Print

Categories