5 April 2024

วช. ถอดบทเรียนความเสียหายจากแผ่นดินไหว เพื่อลดความสูญเสีย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม

วช. ถอดบทเรียนความเสียหายจากแผ่นดินไหว เพื่อลดความสูญเสีย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม
วันที่ 4 เมษายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) ร่วมกับ คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสัมมนาในหัวข้อ “ถอดบทเรียนความเสียหายจากแผ่นดินไหว บริเวณ Noto Peninsula ประเทศญี่ปุ่น” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิด พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และคณะทีมนักวิจัยเป็นผู้ให้ข้อมูลด้านแผ่นดินไหว พร้อมด้วยหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน และสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “ถอดบทเรียนความเสียหายจากแผ่นดินไหว บริเวณ Noto Peninsula ประเทศญี่ปุ่น” ในวันนี้ วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมมีการดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ชาติ และริเริ่มแผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talents) และ ศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ในปี 2566 ได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) โดยมี “ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand)” ที่มี ศาสตราจารย์ ดร. เป็นหนึ่ง วานิชชัย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ด้านแผ่นดินไหวของประเทศไทย ที่จะให้ข้อมูลเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิด และลดความสูญเสีย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม
ศาสตราจารย์.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2566 เป็น ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านแผ่นดินไหว สนับสนุนการดำเนินงาน โดย วช. เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ หัวหน้าคณะสำรวจ และคณะทีมนักวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น นำทีมสำรวจความเสียหายจากแผ่นดินไหวขนาด 7.6 เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2024 เวลา 16:10 น. (เวลามาตรฐานญี่ปุ่น) ในคาบสมุทรโนโตะ จังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น ทีมสำรวจได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายรุนแรง เช่น อุจินาดะ (Uchinada) วาจิมะ (Wajima) อานามิซุ (Anamizu) ซูซุ (Suzu) โนโตะ (Noto) มอนเซ็น (Monzen) และ โทกิ (Togi) แม้ว่าเวลาผ่านไปกว่า 2 เดือนแล้ว ภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ยังคงอยู่ประเทศไทย จึงควรศึกษาและเตรียมแผนเพื่อรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร. สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งฮวาเหลียน ณ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ที่มีขนาด 7.4 แมกนิจูด ลึก 11 กิโลเมตร รวมถึงเกาะโอกินาวาญี่ปุ่น เกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ขนาด 6.0 แมกนิจูด บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น โดยจุดศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่งเมืองฟุกุชิมะ ลึกลงไปราว 40 กิโลเมตร โดยสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นไหวได้ถึงกรุงโตเกียว และถูกจัดให้อยู่ในความรุนแรงระดับ 4 จากมาตรวัดของญี่ปุ่นที่มี 7 ระดับ จากเส้นทางการสำรวจพบว่าเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยการสำรวจความเสียหายนี้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสร้างมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเพื่อรองรับกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตของประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที
โดย กิจกรรมภายในงานเป็นการเสวนาให้หัวข้อต่าง ๆ เพื่อถอดบทเรียนความเสียหายจากแผ่นดินไหว ดังนี้
- "ข้อมูลพื้นฐานของ แผ่นดินไหว Noto Seismological Data และ Tectonic Data" โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ภาสกร ปนานนท์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- "การตรวจวัดแผ่นดินไหว คลื่นแผ่นดินไหว Strong Motion Data" โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล
- "ผลกระทบและบทเรียนสึนามิ" โดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนวัช สรรพศรี จาก มหาวิทยาลัยโทโฮคุ และ นายณัฐพล ธรรมิกบวร จาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
- "ผลกระทบและบทเรียน Landslide การเกิดดินเหลว" โดย ดร.วีรเดช ธนพลังกร จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- "ผลกระทบและบทเรียน โครงสร้างและสิ่งก่อสร้าง" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วงศา วรารักษ์สัจจะ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- "การจัดการหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว" โดย นายอำพัน เหล่าสุนทร นักวิจัย จาก Tokyo Institute of Technology
ทั้งนี้ วช. อยู่ระหว่างดำเนินการสร้าง Research Ecosystem Facilities ที่จะช่วยให้สามารถศึกษาวิจัย ในระดับที่ทัดเทียมกับนานาชาติ รวบรวมองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว และเป็นกลไกหลักในการนำเสนอนโยบายและเพื่อการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ เพื่อเป็นเวทีในการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดสำหรับการนำบทเรียนมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย และ เตรียมความพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวในอนาคต
Print

Categories