11 December 2024

วช. ร่วมกับ UNISERV และสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ จัดงาน DustBoy Day ครั้งที่ 3

วช. ร่วมกับ UNISERV และสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ จัดงาน DustBoy Day ครั้งที่ 3

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงร่วมกับ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (3E) จัดกิจกรรม "DustBoy day ครั้งที่ 3“ เพื่อร่วมกันในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีบล๊อคเชน ส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูล ข่าวสารด้านเทคโนโลยีบล๊อคเชน การจัดการข้อมูลคุณภาพอากาศ สนับสนุนการพัฒนาและการใช้งานระบบดัสบอยเชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านบล๊อคเชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม และสร้างสรรค์สังคมที่มีการพัฒนาต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดกิจกรรม รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ผู้อํานวยการสํานักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวรายงาน นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงการสนับสนุน DustBoy และได้รับเกียรติจาก นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมบรรยายในหัวข้อ “การบูรณาการข้อมูลเพื่อใช้วางแผนรับมือไฟป่า ฝุ่นควัน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ณ ห้องประชุมอินทนิล ชั้น 1 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัย กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรมให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการดำเนินโครงการ “การเฝ้าระวังและเตือนภัยปัญหาหมอกควัน โดยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศระบบเซ็นเซอร์ DustBoy ในประเทศไทย” มาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งทีมนักวิจัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ได้พัฒนาเครือข่ายเครื่องตรวจวัดระบบเซ็นเซอร์ และระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นข้อมูลในการเฝ้าระวัง เตือนภัยให้กับประชาชนทั่วไป และสนับสนุนการดำเนินงานของทุกภาคส่วนมาโดยตลอด จนได้รับรางวัลโครงการที่มีคุณค่าทางสังคมดีเด่น CMU Social Value 2023 จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีมนักวิจัยยังได้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นชื่อเสียงให้กับประเทศจากการได้รับ รางวัล Grand Prize ในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ SIIF2023 (ปี 2566) ที่สาธารณรัฐเกาหลี และ ล่าสุดได้รับรางวัล รองชนะเลิศ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทองค์กรภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหากำไร จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ รางวัล NRCT Award จาก วช. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 เพื่อยกย่องเชิดชูผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ และ วช. มีความยินดีที่ผลลัพธ์และสำเร็จของงานวิจัยมีการนำไปใช้ประโยชน์กว้างขวางและเป็นรูปธรรม
นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย และ ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงการสนับสนุนของ วช. ในการพัฒนาและติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 “DustBoy” ไปแล้วกว่า 1,500 จุดทั่วประเทศ โดยช่วงระยะแรก เริ่มต้น ในปี 2559 DustBoy เกิดขึ้นภายใต้ แผนงานวิจัยท้าทายไทย (Grand Challenges Thailand) : ประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand Haze) ผลิตได้ 38 เครื่อง โดยติดตั้งในเครือข่าย โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมา วช. ได้ให้ทีมนักวิจัยได้พัฒนาและต่อยอดขยายผลการติดตั้ง DustBoy เป็น 5 เฟส ผ่านความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่าย ดังนี้ เฟส 1 ติดตั้งเพิ่มจำนวน 100 เครื่อง โดยร่วมมือกับ หน่วยงานสาธารณสุข-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฟส 2 ติดตั้งเพิ่มจำนวน 120 เครื่อง โดยร่วมมือกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เฟส 3 ติดตั้งเพิ่มจำนวน 200 เครื่อง โดยร่วมมือกับ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ เฟส 4 และ 5 ติดตั้งเพิ่มเฟสละ 500 เครื่อง โดยร่วมมือกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและเตือนภัยสถานการณ์ PM2.5 แก่ประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก ผ่านแอพพลิเคชั่น AQIC และเว็บไซต์ https://pm2_5.nrct.go.th/
กิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วย การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านข้อมูลวิชาการสนับสนุนการแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของ 4 มหาวิทยาลัย และกิจกรรม Workshop : Blockchain และ SuperMap โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 60 คน เป็นนักวิจัย นักวิชาการจากหน่วยงานภาคการศึกษา ภาครัฐบาล และภาคเอกชน

Print

Categories