19 September 2024

วช. ร่วมกับ กอ.รมน. มอบนวัตกรรม “ระบบผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์” เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อต้นน้ำตำบลเนินงาม อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

วช. ร่วมกับ กอ.รมน. มอบนวัตกรรม “ระบบผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์” เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อต้นน้ำตำบลเนินงาม อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5 กอ.รมน.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานร่วมในพิธีส่งมอบนวัตกรรม ร่วมกับ พันเอก ศักดา อนุศาสนรักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศปป.5 กอ.รมน. ในโครงการ “การผลิตและการเพิ่มศักยภาพแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อต้นน้ำตำบลเนินงาม”  โดยมี นายจรูญศักดิ์ หมาดเท่ง นายอำเภอรามัน จังหวัดยะลา ให้การต้อนรับ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเนินงาม

 

พันเอก ศักดา อนุศาสนรักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กอ.รมน. กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กอ.รมน. และ วช. และภายใต้แนวคิด “คำตอบอยู่ที่ ตำบล” ของ กอ.รมน. ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการสร้างความมั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างสันติสุขและสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง และยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาเป็นแกนหลักใน การขับเคลื่อนกิจกรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนแก่ชุมชน ให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ การขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กอร.มน. ได้รับความร่วมมือเป็น อย่างดีจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี และมหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าระนครเหนือ ที่ได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ กอ.รมน. เพื่อส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น ผลงานนวัตกรรมที่นำมาถ่ายทอดและส่งมอบแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อบ้านต้นน้ำตำบลเนินงามในวันนี้ คือ นวัตกรรมผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ ซึ่งนวัตกรรมนี้ ช่วยลดประมาณของเสียเหลือทิ้งจากการเลี้ยงโคเนื้อ เช่น มูลโคที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แล้ว ยังเป็นการช่วยในการพัฒนากระบวนการผลิตพลังงานสะอาดจากมูลสัตว์ ซึ่งสามารถลดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของเกษตรกร สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ และถือเป็นแบบอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ หน่วยงานวิจัย และชุมชน    

 

นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้ นับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาคการวิจัย ภาคการศึกษาและภาคความมั่นคง ในการเชื่อมต่องานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการแก้ไขปัญหาให้กับภาคประชาชน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง วช. และ กอ.รมน. ในการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ : ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม ผ่านกลไกการดำเนินงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง (สนย.) และศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 – 5 (ศปป.1 – 5) ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง วช. และ กอ.รมน. มีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมในการสนับสนุนงานเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางสังคม ความมั่นคงแบบพิเศษ ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงานและอาหาร รวมถึงความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ (พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) ตลอดจนเพื่อนำการวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในการปฏิบัติและการถ่ายทอดสู่ศูนย์เรียนรู้ของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง และพื้นที่ชุมชนเป้าหมายของ กอ.รมน.นำสู่ชุมชนที่มีศักยภาพประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน

 

กิจกรรมการส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมในโครงการเรื่อง “การผลิตและการเพิ่มศักยภาพแก๊สชีวภาพจากมูลของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อต้นน้ําตําบลเนินงาม” นี้ เป็นกิจกรรมภายใต้ การดําเนินงานร่วมกับ ศปป.5 กอ.รมน. โดย วช. ให้การสนับสนุน องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ ที่พัฒนาโดยทีมคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี เพื่อส่งต่อให้กับพี่น้องกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อต้นน้ําตําบลเนินงาม อําเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

Print

Categories