10 June 2024

วช. ร่วมงาน Indigo Wave: Susstainable Week 2024 ณ ม.บูรพา ชูผลสำเร็จงานวิจัยผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง

วช. ร่วมงาน Indigo Wave: Susstainable Week 2024 ณ ม.บูรพา ชูผลสำเร็จงานวิจัยผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ติดตามผลสำเร็จงานวิจัย ในงาน Indigo Wave: Susstainable Week 2024 โครงการวิจัยและนวัตกรรม เรื่อง “ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  และผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ร่วมในกิจกรรม

 

โครงการสาธิตและจัดแสดงต้นแบบผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์และนวัตกรรมจากเปลือกหอยแมลงภู่ มี ศ. ดร.สนอง เอกสิทธิ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย พร้อม คณะนักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล บางแสน มหาวิทยาลัยบูรพา, สวทช. และ มทร.ธัญบุรี

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านสาธารณสุข และปัญหาการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง เนื่องจากในแต่ละปีมีปริมาณเปลือกหอยแมลงภู่ทิ้งสะสมหลายหมื่นตันต่อปี ดังนั้น วช. จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการทุนวิจัยโครงการวิจัยและนวัตกรรม เรื่อง “ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี” ซึ่งมี ศ. ดร.สนอง เอกสิทธิ์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาวิธีการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่ให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับความพร้อมทางเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากเปลือกหอยแมลงภู่ให้มีความพร้อมสำหรับการต่อยอดเชิงพาณิชย์

 

ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ หัวหน้าชุดโครงการวิจัย กล่าวว่า ผลสำเร็จนวัตกรรมจากโครงการผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ซึ่งมี 6 โครงการ ได้แก่

1) เส้นพลาสติกผลิตจากพอลิแลกติกแอซิดรีไซเคิลและนาโนแคลเซียมคาร์บอเนตสำหรับการขึ้นรูปด้วยการพิมพ์สามมิติ 

2) ไมโครแคลเซียมคาร์บอเนตแปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่เพื่อใช้เป็นสารตกตะกอนของนาโนพลาสติกและสารปนเปื้อนอินทรีย์ในแหล่งน้ำ

3) เซรามิกซ์ชีวภาพจากเปลือกหอยแมลงภู่สำหรับใช้เป็นฐานยึดเกาะของตัวอ่อนปะการังเพื่อการเพาะขยายพันธุ์ต้นกล้าปะการังและการฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง

4) สารจับใบแปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่สำหรับเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย

5) ทรายประกายมุกจากเปลือกหอยแมลงภู่สำหรับกิจกรรมศิลปะ สันทนาการ และการอนุรักษ์วัฒนธรรม

6) ไมโครแคลเซียมคาร์บอเนต/แคลเซียมไฮดรอกไซด์แบบแผนสำหรับกันหมองและลดการสึกกร่อนของพื้นผิวภายนอกของโบราณสถานและโบราณวัตถุ

 

ผลสำเร็จของงานวิจัยได้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง ที่สามารถสร้างมูลค่า อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ  ด้วยวิจัยและนวัตกรรม

 

ทั้งนี้ วช. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงและอนุรักษ์ปะการังด้วย Polyp Haven ซึ่งผลสำเร็จจากการวิจัยและพัฒนา ไปสู่การผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านทรัพยากรทางทะเล ผ่านงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์และการฟื้นฟื้นฟูระบบนิเวศทะเลไทย สู่การอนุรักษ์ปะการังไทยที่ยั่งยืน

Print

Categories