2 September 2024

วช. สนับสนุนงานวิจัย Blue Carbon ทิศทางการวิจัยทางทะเลของประเทศไทย เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

วช. สนับสนุนงานวิจัย Blue Carbon ทิศทางการวิจัยทางทะเลของประเทศไทย เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง




















วันที่ 28 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนาเรื่อง Blue Carbon ทิศทางการวิจัยทางทะเลของประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาสุขภาพสังคม และสิ่งแวดล้อม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมในครั้งนี้ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ศ.ดร.อัญชนา ประเทพ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.นวรัตน์ ไกรพานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ คุณอภิสิทธิ์ เสนาวงศ์ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ผศ.ดร.พลชาติ โชติการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.ดร.จริยาวดี สุริยพันธุ์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ดำเนินการเสวนาโดย ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ณ ห้องประชุม Lotus 1-2 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฯ กล่าวว่า ประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
นำมาสู่การวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนการวิจัย Blue Carbon ทางทะเลโดยความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่การเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อมุ่งเน้นการฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ Blue Carbon เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และอนุรักษ์การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าได้อย่างยั่งยืน
ศ.ดร.อัญชนา ประเทพ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การวิจัยทางทะเลของประเทศไทยด้าน Blue Carbon นั้น สามารถดำเนินงานได้ในหลากหลายรูปแบบหรือช่องทาง อาทิ deep ocean, nature base solution และศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของสิ่งมีชิวิตต่างๆ เพื่อหาวิธีในการฟื้นฟูแสู่การอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญของประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ดร.นวรัตน์ ไกรพานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ จาก วช. กล่าวว่า โจทย์วิจัยเชิงรุกของประเทศไทย ด้าน Blue Carbon-Blue Economy จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งและทรัพยากรทางทะเลให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับการกักเก็บคาร์บอนของพืชชายฝั่งให้มากขึ้นด้วย
คุณอภิสิทธิ์ เสนาวงศ์ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายสาเหตุที่เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศชายฝั่งและระบบนิเวศทางทะเล การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่สูงขึ้นทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นเพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่การร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในการเพิ่มอัตราการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพของป่าชายเลนให้มากยิ่งขึ้นเพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน
ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ศูนย์ประสานงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ได้กล่าวถึงภาพรวมว่า ในอนาคตจะมีการพัฒนาแนวทางการวิจัย Blue Carbon ทางทะเลของประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ถัดมา เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์วิจัยด้าน Blue Carbon ของนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุน จาก วช. ในหัวข้อ ศักยภาพของการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลนและหญ้าทะเลตามธรรมชาติและปลูกบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดย ผศ.ดร.พลชาติ โชติการ จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหัวข้อ ปริมาณคาร์บอนสะสม คาร์บอนกักเก็บและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงตลอดฤดูกาลในแนวหญ้าทะเลตลอดชายฝั่ง และหมู่เกาะแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดย ผศ.ดร.จริยาวดี สุริยพันธุ์ จาก มหาวิทยาลัยบูรพา
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 30 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://researchexporegistration.com ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ดูรายละเอียดได้ที่ https://researchexpo.nrct.go.th/ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2579-1370-9 ต่อ 515, 517, 518 ทั้งนี้ การเข้าร่วมกิจกรรมการสัมมนาในหัวข้อต่าง ๆ ทางผู้จัดขอสงวนสิทธิ์สำหรับผู้ลงทะเบียนผ่านระบบล่วงหน้าเท่านั้น

Print

Categories