24 August 2023

วช. เปิดเวทีประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ แสดงฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อขอรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 67

วช. เปิดเวทีประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ แสดงฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อขอรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 67
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
จัดประกวด “ผลงานประดิษฐ์คิดค้น” เพื่อขอรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานฯ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช. 1 เพื่อเป็นเวทีให้นักประดิษฐ์ นักวิจัย และเยาวชนนำเสนอผลงานต่อสาธารณชน โดยมีผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ เข้าร่วมประกวดกว่า 100 ผลงาน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีภารกิจสำคัญที่มุ่งส่งเสริม สร้างแรงจูงใจและช่วยผลักดันการพัฒนาศักยภาพของนักประดิษฐ์ไทยให้สามารถพัฒนาผลงาน กระบวนการหรือนวัตกรรมที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ ซึ่งกิจกรรม “งานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น” เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาให้รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ได้แบ่งรางวัลออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น
ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ เป็นส่วนของรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ที่เป็นเวทีที่ให้นักประดิษฐ์ได้นำผลงานการประดิษฐ์คิดค้นออกเผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และเพื่อให้คณะทำงานพิจารณาประเมินรางวัลฯ ได้ซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับผลงานเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้นักประดิษฐ์ได้มีโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนพูดคุยประสบการณ์เพื่อนำไปพัฒนาผลงานต่อไป

ส่วนผู้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2567 จะเข้ารับรางวัลในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567” ซึ่ง วช. จัดขึ้นในวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2667 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

สำหรับการจัดกิจกรรม “งานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น” ประจำปีงบประมาณ 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 25 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร วช. 1 และบริเวณโถง ชั้น 1 อาคาร วช. 4 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีผลงานเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ จำนวนกว่า 144 ผลงาน จาก 9 สาขาวิชาการ ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย สาขาปรัชญา สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ สาขาการศึกษา และสาขาสังคมวิทยา โดยเป็นผลงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมประกวด จำนวนกว่า 48 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการฝึกอบรมการถ่ายทอดองค์ความรู้พื้นที่ปลูกพืชในเมือง ณ ศูนย์เกษตรวิถีเมือง วช.ด้านข้าง อาคาร วช.5 และกิจกรรมเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ “การวางต้นไม้ลดฝุ่นและใบไม้ช่วยลดฝุ่น” ณ สวนภูมิทัศน์พรรณไม้ลด PM 2.5 หน้าอาคาร วช. 2

ตัวอย่างผลงานวิจัยที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ อาทิ ผลงานวิจัยเรื่อง “แอมโมเนียมเซนเซอร์แบบพกพา” ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลงานวิจัยเรื่อง “คูริวอยซ์ : เครื่องบันทึกเสียงเคาะทุเรียนด้วยระบบตัดเสียงรบกวน เพื่อการวิเคราะห์ความบริบูรณ์ด้วยปัญญาประดิษฐ์” ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานวิจัยเรื่อง “เครื่องต้นแบบสกัดสารไมทราไจนีนจากใบกระท่อมพลังงานร่วม โดยใช้เทคนิคสนามไฟฟ้าพัลส์และอัลตร้าโซนิค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานวิจัยเรื่อง “อินโนแซค : ยีสต์ทนความร้อนที่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยแป้งที่ผิวเซลล์สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตเอทานอลชีวภาพ จากมันสำปะหลังแบบขั้นตอนเดียว ของ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเกมกายภาพบำบัด สำหรับฝึกทักษะผู้ป่วยอัมพฤกษ์ ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง ของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
Print

Categories