12 November 2023

วช. และเครือข่ายนักวิจัย “เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5”

วช. และเครือข่ายนักวิจัย “เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5”
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการกิจกรรมอบรม “เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคกลาง” โดย นางสาวกรรณิกา ดุรงคเดช ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ศ.ดร.ไพศาล กิตติศุภกร ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ และนายประลอง ดำรงค์ไทย ลงพื้นที่ติดตามผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จ และประเมินความต่อเนื่องและยั่งยืนของโครงการ รวมทั้งจัดอบรมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี โดยมี นายก่อเกียรติ กุลหกูล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวต้อนรับ และนักวิจัยที่เป็นวิทยากรในการอบรมครั้งนี้ ได้แก่ ดร.ภูชีวันท์ สุริยะวงศ์ และ ดร.ฮัยศัม สาแม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยโครงการ “การเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพอากาศด้วยเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 แบบเซ็นเซอร์ (DustBoy)” และ ดร.ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นักวิจัยโครงการ “การนำนวัตกรรมไปจัดการกับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผา” ในกิจกรรมอบรมมีหัวข้อน่าสนใจ ดังนี้

หัวข้อ “การดูแลเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 (DustBoy) เพื่อการเฝ้าระวังและเตือนภัย” โดย ดร.ภูชีวันท์ สุริยะวงศ์ กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในทุก ๆ ปี DustBoy เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กจะช่วยให้ทราบข้อมูลฝุ่นแบบ Real-time อันนำไปสู่การวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันตน จากอันตรายของฝุ่นควัน ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีการเผยแพร่เพื่อเป็นเครื่องมือเฝ้าระวัง โดยมีการรายงานผลการตรวจวัดแบบใกล้เคียงเวลาจริง ผ่าน “ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ (Air Quality Information Center: AQIC)” ทั้งในรูปแบบ เว็บไซต์ แอปพิเคชันบนมือถือ และ LINE ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดสิงห์บุรีมีการติดตั้งจำนวน 9 จุด และ

ดร.ฮัยศัม สาแม กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 (DustBoy) ในเบื้องต้น แบ่งการดูแลเป็น 2 แบบ คือ 1) จุดที่ติดตั้งของเครื่อง DustBoy กล่าวคือต้องอยู่ในที่ร่ม ไม่ให้โดนแดดฝน อยู่ในระดับสูงประมาณ 150 – 180 ซม. โดยประมาณ และไม่ใกล้ถนนเกินไป 2) เมื่อเครื่องมีการใช้งานเป็นระยะเวลานานอาจทำความสะอาดด้วยการใช้เครื่องเป่า และหากมีข้อขัดข้องจากการใช้งานสามารถประสานให้กับศูนย์ AQIC ตรวจสอบพร้อมแนะนำได้

หัวข้อ “การผลิตปุ๋ยหมักและดินปลูกจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและเทคนิคการทำปุ๋ย การปรุงดิน" โดย ดร.ลักขณา เบ็ญจรรรณ์ กล่าวว่า ความเชื่อมโยงระหว่างการผลิตปุ๋ยหมักและฝุ่น PM2.5 มีความเกี่ยวพันกัน ด้วยการทำปุ๋ยหมักเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดการเผาหรือทำลายวัสดุที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 อีกทั้งในการผลิตปุ๋ยหมักจะช่วยให้มีรายได้เพิ่ม โดยเครื่องผลิตปุ๋ยหมักจากวัชพืชได้รับทุนจาก วช. เมื่อปี พ.ศ. 2555 ซึ่งเครื่องผลิตปุ๋ยหมัก มี 2 ขนาด คือ ขนาดเล็กสำหรับครัวเรือนที่มีความจุถังหมัก 80 ลิตร และขนาดใหญ่สำหรับภาคการเกษตรที่มีความจุถังหมัก 400 ลิตร

ภายในกิจกรรมอบรม ดร.ลักขณาฯ ได้สาธิตวิธีการใช้เครื่องรวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทำปุ๋ยหมักและดินปลูกจากวัชพืช และการปลูกพืช พร้อมทั้งบรรยายในเรื่อง “การปรุงดิน” โดย วช. คาดหวังว่าการสาธิตและให้ความรู้ดังกล่าว จะช่วยให้ชุมชนนำความรู้ไปใช้ในการเกษตรและจำหน่ายเป็นการเสริมอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน รวมทั้งเกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนด้วยนวัตกรรมที่ช่วยกำจัดวัชพืช และเป็นการพัฒนาและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 พร้อมนำไปสู่การใช้ประโยชน์และพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดำเนินชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
Print

Categories