7 March 2024

วช. โดย ศูนย์ HTAPC ชี้ทางรอดฝุ่น PM2.5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องใช้ข้อมูลจากงานวิจัย เร่งปรับพฤติกรรม ผสานความร่วมมือ

วช. โดย ศูนย์ HTAPC ชี้ทางรอดฝุ่น PM2.5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องใช้ข้อมูลจากงานวิจัย เร่งปรับพฤติกรรม ผสานความร่วมมือ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) จัดการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด และมี นายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรองศาสตราจารย์ ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ดร.สุพัฒน์ หวังวงค์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ร่วมประชุมเสวนา ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้การสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมในกลุ่มเรื่อง Haze Free Thailand และปัญหาฝุ่น PM2.5  มาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การริเริ่มก่อตั้ง เกิดเป็น “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ” (Hub of Talents on Air Pollution and Climate: HTAPC) ภายใต้แผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และ ศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) เพื่อเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระดับประเทศและระดับนานาชาติจากหลากหลายสถาบัน  ด้วยหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยประสบปัญหามลพิษทางอากาศและได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศพบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นอีก  วช. โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ จึงจัดการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ในวันนี้ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ปัญหามลพิษทางอากาศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งตอนบนและตอนล่าง โดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการแหล่งกำเนิดและที่มาของฝุ่น PM2.5 การจัดการกับปัญหาการเผาป่าและการเผาในที่โล่งภาคการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเรื่องหมอกควันข้ามแดน ที่แหล่งกำเนิดมาจากประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะลุ่มน้ำโขง แล้วเกิดการเคลื่อนที่ของมลพิษในระยะไกลเข้ามาในประเทศไทย และเพื่อบูรณาการการจัดการฝุ่น PM2.5 และสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้นำไปสู่ “การจัดการกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออากาศสะอาดสำหรับทุกคน”

นายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดใหญ่มีประชากรมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศพบว่า มีแนวโน้มและโอกาสเกิดปัญหามลพิษทางอากาศเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ที่มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบางช่วงของปี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว พบความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานรายวัน ปัญหา PM2.5 จึงมีผลกระทบกับกลุ่มประชากรจำนวนมากในช่วงที่เป็นปัญหา แต่องค์ความรู้ด้านคุณภาพอากาศ ความเข้าใจในสภาพปัญหา และที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็กยังมีจำกัด การประชุมสัมมนาวิชาการเรื่องคุณภาพอากาศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเป็นประโยชน์กับพื้นที่ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับสภาวการณ์ ทั้งนี้ได้เตรียมวางแผนงานและมาตรการเฝ้าระวังปัญหา PM2.5 ในพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันอุดมศึกษาหลักแห่งหนึ่งในภูมิภาคที่ได้มีความตระหนัก ติดตาม ปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและได้ดำเนินการในเชิงวิชาการซึ่งเป็นภารกิจหลักขององค์กร ได้แก่ การวิจัย การจัดอบรมสัมมนา การให้บริการทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการได้ครอบคลุมตั้งแต่แหล่งกำเนิดไปจนถึงผู้รับมลพิษ แต่อย่างไรก็ดี ปัญหานี้ยังคงดำรงค์อยู่และคาดว่าจะยังคงไม่สิ้นสุดภายในระยะเวลาอันใกล้ การศึกษาวิจัยในเรื่องนี้จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ที่ครอบคลุมหลายมิติ การศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เหมาะสมและยั่งยืนต่อไป

ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ วช. กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ นำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ที่ผ่านมาในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละออง PM2.5 มาไขข้อข้องใจในสิ่งที่ไม่เข้าใจในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้กับนักวิชาการและประชาชนทั่วไปให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ

จากการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการนำสิ่งที่ไม่เข้าใจในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ก็จะนำไปสู่การนำเสนอแนวทางการเตรียมรับมือด้านสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นข้อมูลแก่ประชาชนในการเฝ้าระวัง การเผชิญเหตุเมื่อปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ ข้อควรปฏิบัติ เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ในช่วงเวลาวิกฤตของพื้นที่ การจัดการพื้นที่ SAFE ZONE หรือพื้นที่ปลอดฝุ่น รวมถึงร่วมกันเสนอมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการฝุ่น PM2.5 ที่เหมาะสมกับรายบุคคล ทั้งนี้ วช. และศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชน เฝ้าระวัง ป้องกันฝุ่น PM2.5 สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก อันจะนำไปสู่ สุขภาพ คุณภาพ ชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต.-สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

Print

Categories