ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา (Hub of Talents in Natural Rubber) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวัสดุและพอลิเมอร์เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม ภาควิชาวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ (International Conference on Materials Research and Innovation: ICMARI) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 18 - 19 ธันวาคม 2567 ณ ห้อง Ladprao Suites ชั้น Mezzanine โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม และมี ศาสตราจารย์ ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การประชุม รวมทั้งมีการแสดง “Muay Thai, Thailand's soft power show” จากศูนย์กลางความรู้ศิลปะมวยไทยสู่ระดับโลก ภายใต้การสนันสนุนจาก วช. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567
การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ (International Conference on Materials Research and Innovation: ICMARI) ครั้งที่ 6 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้สมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมด้านพอลิเมอร์ ให้แก่นิสิต นักศึกษา อาจารย์ บริษัท องค์กร และหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับยางพาราและวัสดุที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งสร้างเครือข่ายงานวิจัยในด้านวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมยาง และส่งเสริมความเข้มแข็งและความร่วมมือระหว่างนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก 1. รองศาตราจารย์ ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) 2. Prof. Sadhan C. Jana จาก University of Akron ประเทศสหรัฐอเมริกา 3. Assoc. Prof. Karine Mougin จาก Institut de Science des matériaux de Mulhouse ประเทศฝรั่งเศส 4. ศาสตราจารย์ ดร.เจริญ นาคะสรรค์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5. ศาสตราจารย์ ดร. ปราณี ภิญโญชีพ จากสมาคมโพลิเมอร์แห่งประเทศไทย และ 5. Prof. Arkadiusz Chworos จาก Polish Academy of Sciences ประเทศโปแลนด์ ร่วมบรรยายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Research funding policy of Program Management Unit for Competitiveness, Separation of PFAS from water using meso and macro-porous materials, Colour-changing smart materials inspired by nature, Utilization of renewable natural-origin oils as sustainable and environmentally friendly additives in natural and synthetic rubber formulations, Towards eco-friendly natural rubber composites reinforced with silica and biomass-derived fillers และ Computational approach to peptide-peptide and protein-ligand interactions ตามลำดับ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจากหน่วยงานต่าง ๆ จากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศร่วม 140 คน จาก 11 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ประเทศฝรั่งเศส ประเทศโปแลนด์ ประเทศแคนนาดา ประเทศสิงคโปร์ ประเทศเวียดนาม ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งภายในงานยังมีการนำเสนอประเภท Poster จำนวน 28 ผลงาน และประเภท Oral presentation จำนวน 51 ผลงาน เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านยางพาราและวัสดุศาสตร์และเผยแพร่งานวิจัยใหม่ ๆ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ด้านอุตสาหกรรมยางพาราและวัสดุสู่ระดับสากล