3 September 2024

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” อว.-วช. จัดแสดงผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2567” อว.-วช. จัดแสดงผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืน



















สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” หรือ Thailand Research Expo 2024 ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ในภายใต้แนวคิด "สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งการวิจัยไทย" และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และเพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นจากนักวิจัยไทย อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพด้านงานวิจัย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรม โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหาร นักวิจัย เฝ้ารับเสด็จฯ ณ ห้องบอลรูม โรงแรมเซนทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรและหนังสือที่ระลึก และกราบบังคมทูลถวายรายงาน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักการวิจัยแห่งชาติ กราบบังคมทูลเบิกผู้บริหารหน่วยงาน/เจ้าของผลงานเข้ารับพระราชทานรางวัลประเภท Platinum Award จำนวน 2 หน่วยงาน นักวิจัยศักยภาพสูง วช. เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 3 ราย ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น วช. เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 3 ราย เมธีวิจัยอาวุโส วช. เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 11 ราย ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ประจำปี 2567 เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 8 ราย ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดวงดนตรีผสมผสานประกอบการแสดงวัฒนธรรมพื้นถิ่นไทย ระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2567 เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 2 ราย และ ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีจากทีมได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ประจำปี 2567
จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดงาน เสร็จแล้วพระราชทานพระวโรกาสฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับ ผู้บริหาร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้บริหารสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในระบบวิจัย และผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลและเกียรติบัตร แล้วจึงเสด็จฯ ไปยังห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ทรงวางพระหัตถ์บนแท่นอะคิริคเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024)
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิจัย การแสดงโดรนแปลอักษร นิทรรศการ Research Festival นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและนิทรรศการผลงานวิศวกรสังคมกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง โดยให้ความสนพระทัยต่อผลงานวิจัยที่เข้าร่วมจัดแสดงในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 เป็นอย่างยิ่ง แล้วเสด็จฯ กลับ
“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ภายในงานประกอบด้วย ภาคการประชุมและสัมมนาหลากหลายประเด็นกว่า 150 เรื่อง ภาคนิทรรศการประกอบด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ อาทิ นิทรรศการศาสตร์และศิลป์งานวิจัย นิทรรศการเครือข่ายวิจัยภูมิภาค นิทรรศการ Research Festival งานวิจัยขายได้ นิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา การจัดกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติคุณนักวิจัย ประกอบด้วย นักวิจัยศักยภาพสูง ศาตราจารย์วิจัยดีเด่น และ เมธีวิจัยอาวุโส วช.เป็นต้น
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 ครั้งนี้ อว.โดย วช. มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงและสร้างพลังแห่งความร่วมมือในทุกเครือข่ายงานวิจัยในการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม สำหรับรูปแบบการจัดงานแบ่งออกเป็น 6 ธีม ซึ่งครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในหลากหลายมิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ BCG, Soft Power, เศรษฐกิจใหม่, สังคมยั่งยืน, สิ่งแวดล้อม และวิสาหกิจชุมชนและ เอสเอ็มอี
ผลงานวิจัยที่มาจัดแสดงภายในงานปีนี้มีจำนวนกว่า 900 ผลงาน อาทิ ผลงานวิจัย เรื่อง เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเพื่อการรักษาคุณภาพทุเรียนแช่เยือกแข็ง จาก สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ผลงานวิจัย เรื่อง การพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในระบบเกษตรปลอดภัย เพื่อการบริโภค จาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผลงานวิจัย เรื่อง ศิลปะชุมชนและศิลปะแบบมีส่วนร่วมการตัดผ้าสร้างสรรค์แบบมีส่วนร่วมสะท้อนอัตลักษณ์ชุมชนชาวจีนเยาวราช จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานวิจัย เรื่อง ผลของชุดเพลงผสมคลื่น Binaural และ Superimposed beats ต่อการควบคุมความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ : การศึกษาแบบกึ่งทดลอง จาก สถาบันพระบรมราชนก ผลงานวิจัยเรื่อง นวัตกรรมการใช้ต้นไม้ลดฝุ่น PM2.5 ด้วยรูปแบบสวนภูมิทัศน์ในสังคมเมือง จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นอกจากนี้ยังจัดให้มี Research Festival ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เข้าชมงานได้มีโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมกับเหล่านักวิจัยอย่างมากมาย อาทิ Research Lab -ห้องเรียนรู้การวิจัย เป็นต้น
“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2567 สำหรับผู้ที่สนใจผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย สามารถค้นหาสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2579-1370-9
Print

Categories