วช. ผนึกกำลังภาคเอกชน ต่อยอดงานวิจัยสู่นวัตกรรม “Smoke Watch” แอปพลิเคชันแจ้งเตือนไฟป่า แก้ปัญหาการเผาในที่โล่งสำหรับภาคเหนือตอนบน

  • 3 May 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 2185
วช. ผนึกกำลังภาคเอกชน ต่อยอดงานวิจัยสู่นวัตกรรม “Smoke Watch” แอปพลิเคชันแจ้งเตือนไฟป่า แก้ปัญหาการเผาในที่โล่งสำหรับภาคเหนือตอนบน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มองเห็นปัญหาไฟป่าหมอกควันภาคเหนือตอนบน ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลเสียทั้งทางสุขภาพและทางเศรษฐกิจ จึงได้จับมือกับภาคเอกชน ร่วมต่อยอดงานวิจัยสู่โครงการนวัตกรรม “Smoke Watch : แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่าจากการเผาในที่โล่ง” เพื่อบริหารจัดการข้อมูลการแจ้งเหตุเผาไฟป่า และเข้าระงับเหตุได้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานที่พร้อมให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ อาทิ โครงการ “การสร้างเครือข่ายเพื่อป้องกันและติดตามการเผาในพื้นที่ต้นแบบ 5 ชุมชน ในจังหวัดเชียงราย ด้วยระบบติดตามการเผาผ่านระบบโทรศัพท์อัจฉริยะ (ปี 2558)” ของ ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) เพราะเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ดีที่สามารถใช้แจ้งเหตุการณ์การเผาในบริบทไฟป่าหมอกควันภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย กรณีจังหวัดเชียงราย (Smoke Watch) ผ่าน Mobile Application เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนทางภาคเหนือของไทย

ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล แห่ง มทร.ล้านนา หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการต่อยอดโครงการดังกล่าวที่ทาง มทร.ล้านนา ได้ร่วมกับ วช., สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center: ADPC), ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม ไปสู่โครงการใหม่ที่มีชื่อว่า นวัตกรรม “Smoke Watch : แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่าจากการเผาในที่โล่ง สำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนบน” ซึ่งมี นายบัณฑิต สิริมงคลเลิศกุล เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้เพื่อต้องการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคม ระบบบริหารจัดการข้อมูลและการแจ้งเหตุการเผาบริบทไฟป่าหมอกควัน (Smoke Watch) จังหวัดเชียงราย ผ่าน Mobile Application

สำหรับผลการดำเนินงานโครงการ Smoke Watch จะมีการแจ้งข้อมูลจุดความร้อนจากข้อมูลดาวเทียมในระบบ VIIRS และข้อมูลการเผาของชาวบ้านในชุมชน โดยจะเข้าจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ อาทิ สถานที่ วัน เวลา รูปภาพ เสียง ข้อความ ค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ และข้อมูลผู้แจ้ง โดยมีรูปแบบการแจ้งเตือน 2 ประเภท คือ การแจ้งข้อมูลการเผา (แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ป่าไม้) และการแจ้งข้อมูลเพื่อเป็นเบาะแส (แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจ) หรือ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยทันที เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่เรียบร้อยแล้วก็จะเข้าไปอัพเดทสถานะของตำแหน่งที่ได้รับแจ้งในระบบดังกล่าวต่อไป โดยที่ระบบจะใช้เทคนิคการจัดเก็บข้อมูลลงในฐานข้อมูลเพื่อประมวลผลคัดแยกข้อมูลใหม่ และข้อมูลเก่าสำหรับแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ตรงกับวัตถุประสงค์การแจ้งเตือนทั้งในรูปแบบของเสียงและภาพถ่าย ประกอบกับนำเสนอข้อมูลจุดเผาบนแผนที่ประจำวันบนแผนที่ Google Map เพื่อแสดงจุดการแจ้งเผาของพื้นที่รายวันและการแสดงข้อมูลตารางเพื่อสรุปข้อมูลการเผารายเดือน ที่สามารถแยกเป็นรายพื้นที่ได้ผ่านการคัดกรองจากข้อมูลที่ได้จากการแจ้งของประชาชน

นอกจากนี้ การออกแบบระบบแอปพลิเคชัน Smoke Watch สำหรับผู้ใช้จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.จุดความร้อน VIIRS Hotspot 2.แจ้งการเกิดไฟ 3.สถิติรายงานการแจ้งไฟ และ 4.แผนที่แสดงการแจ้งไฟ อย่างไรก็ดี การแจ้งเตือน “VIIRS Hotspot” จะแสดงผลเฉพาะจุดความร้อน VIIRS ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยจะแสดงข้อมูลรายละเอียดของจุดความร้อน ที่ผู้ใช้สามารถเลือกดูข้อมูลในแต่ละจุดได้ เช่น จุดความร้อนรายตำแหน่ง จุดความร้อนรายวัน จุดความร้อนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายข้อมูลสถิติการเกิดจุดความร้อน เป็นต้น ขณะที่ปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินโครงการนี้ คือ บางพื้นที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต และการใช้งานส่วนใหญ่ประชาชนมุ่งเน้นการติดตามการเกิด Hotspot จากดาวเทียมมากกว่า การแจ้งการเกิดไฟในชุมชน เนื่องจากทางจังหวัดเชียงรายได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนแต่ละชุมชน ร่วมลาดตระเวน และ ติดตามการเกิดไฟจากดาวเทียมเป็นหลัก ส่วนเรื่องแนวทางการขยายผล “Smoke Watch” ในอนาคตจะขยายให้ครอบคลุมจังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยต่อไป
Print
Tags:
Rate this article:
No rating
«January 2025»
MonTueWedThuFriSatSun
303112345
6789101112
13141516171819
20212223242526
272829303112
3456789