วช. ร่วมกับ กอ.รมน. นำนวัตกรรมสู้ภัยแล้ง ณ อ.สอง จ.แพร่ หนุน มรภ.อุตรดิตถ์ ดำเนินงานร่วมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและปราชญ์ชุมชน

วช. ร่วมกับ กอ.รมน. นำนวัตกรรมสู้ภัยแล้ง ณ อ.สอง จ.แพร่ หนุน มรภ.อุตรดิตถ์ ดำเนินงานร่วมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและปราชญ์ชุมชน
วันที่ 17 มีนาคม 2567 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมมอบนวัตกรรมสู้ภัยแล้ง โดยมี พลโท นุกูล นรฉันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมเป็นประธานในพิธีส่งมอบนวัตกรรมโครงการ “การจัดการนวัตกรรมรับใช้สังคมด้วยระบบสูบน้ำพลังงานทดแทนในการแก้ปัญหาภัยแล้งโดยการขับเคลื่อนชุนชนพึ่งพาตนเองโดย นวัตกรช่างชุมชน” โดยมี นายเลิศชัย สกลเสาวภาคย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ให้การต้อนรับ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง อ.สอง จ.แพร่
พลโท นุกูล นรฉันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน. ได้คัดกรองพื้นที่ที่ประสบปัญหาการบริหารจัดการน้ำในการทำการเกษตร ซึ่งในพื้นที่ ต.หัวเมือง อ.สอง จ.แพร่ เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมดำเนินการโครงการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำและภัยแล้ง กับ วช. โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.กันต์ อินทุวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา ศปป.1 กอ.รมน.ได้ติดตามการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการต่างๆอย่างดียิ่งใน จ.แพร่ พร้อมด้วยความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องชาวตำบลหัวเมือง กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. และ กอ.รมน. มีความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม ในการสนับสนุนงานเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางสังคม ความมั่นคงแบบพิเศษ ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน และอาหาร รวมถึงความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ ตลอดจนเพื่อนำการวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการปฏิบัติและถ่ายทอดสู่ศูนย์เรียนรู้ของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง และพื้นที่ชุมชนเป้าหมายของ กอ.รมน. นำสู่ชุมชนที่มีศักยภาพ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน กิจกรรมการส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานร่วมกับ ศปป.1 กอ.รมน. ซึ่งในปี 2566 วช. ได้สนับสนุนนวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการเรื่องน้ำเพื่อผลผลิตทางการเกษตรที่ดีขึ้น โดยกลไกบูรณาการร่วมกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในครั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีรถเข็นสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ สถานีผันน้ำกลับพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ กังหันน้ำเติมอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ และสถานีสูบน้ำทดแทนพลังงานแสงอาทิตย์กระจายน้ำการเกษตรบริเวณกว้าง ที่พัฒนา โดยทีมคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

สำหรับ พิธีส่งมอบนวัตกรรมในครั้งนี้ มรภ.อุตรดิตถ์ ได้นำนวัตกรรมที่พัฒนาใหม่ตามความต้องการให้เกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์ ชุมชน เครือข่าย องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งนวัตกรรมที่ส่งมอบ ได้แก่ นวัตกรรมรถเข็นสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ สถานีผันน้ำกลับพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ กังหันน้ำเติมอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ และสถานีสูบน้ำทดแทนพลังงานแสงอาทิตย์กระจายน้ำการเกษตรบริเวณกว้าง ตอบโจทย์ความต้องการบริหารน้ำแก้ปัญหาภัยแล้งได้ตรงจุดของพื้นที่

นอกจากนี้ พลโท นุกูล นรฉันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ และคณะผู้ทรงคุณวุฒิของ วช. ได้เดินทางไปเปิดสถานีสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ณ ตำบลหัวเมือง อ.สอง จ.แพร่ เพื่อส่งมอบและตรวจเยี่ยมนวัตกรรมในพื้นที่ทำการเกษตรอีกด้วย
Print
«July 2024»
MonTueWedThuFriSatSun
24252627282930
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930311234