วช. ร่วมกับ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ จัดการประชุมเสวนา “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 เรื่อง สุขภาพ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม”

  • 30 November 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 232
วช. ร่วมกับ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ จัดการประชุมเสวนา “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 เรื่อง สุขภาพ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม”

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมเสวนา เรื่อง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 เรื่อง สุขภาพ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน และมอบหมายให้ นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมเสวนา โดยมี ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้แทนหน่วยงาน เข้าร่วมการประชุมเสวนา ณ ห้องประชุม 1 กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในกลุ่มเรื่อง Haze Free Thailand และ ปัญหาฝุ่น PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง และศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพในปัจจุบัน จึงร่วมกันจัดการประชุมเสวนา “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 เรื่องสุขภาพ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และการดูแลสุขภาพ เพื่อรับมือกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
การแลกเปลี่ยนประเด็นการเสวนา นำทีมโดย รองศาสตราจารย์.ดร.นายแพทย์ บุญรัตน์ ทัศนีย์ไตรเทพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กมล แก้วกิติณรงค์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายแพทย์กิติพงษ์ พนมยงค์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และแพทย์หญิง วีรนุช เชาวกิจเจริญ โรงพยาบาลกลาง กรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีความแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิดในแต่ละพื้นที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย ทั้งด้านแหล่งที่มาของมลพิษ ด้านลักษณะภูมิประเทศ ด้านสภาพอุตุนิยมวิทยาและสภาวะอากาศ รวมทั้งความหนาแน่นของจำนวนประชากร ซึ่งฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อร่างกาย เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา แสบจมูก และส่งผลต่อผิวพรรณ และหากฝุ่น PM2.5 สะสมอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานาน มีโอกาสก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหอบหืด นอกจากนี้ฝุ่น PM2.5 มีลักษณะขรุขระจึงมีโอกาสพาสารอื่นติดมาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งมากขึ้นหากสะสมในร่างกาย
โดยจุดมุ่งหมายการเสวนาในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันเสนอแนวทางการเตรียมรับมือด้านสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นข้อมูลแก่ประชาชนในการเฝ้าระวัง การเผชิญเหตุเมื่อปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ ข้อควรปฏิบัติ เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ในช่วงเวลาวิกฤตของพื้นที่ การจัดการพื้นที่ SAFE ZONE หรือพื้นที่ปลอดฝุ่น รวมถึงร่วมกันเสนอมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการฝุ่น PM2.5 ที่เหมาะสมกับรายบุคคล ทั้งนี้ วช. และศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชน เฝ้าระวัง ป้องกันฝุ่น PM2.5 สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก อันจะนำไปสู่ สุขภาพ คุณภาพ ชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต
Print
Tags:
Rate this article:
No rating
«December 2024»
MonTueWedThuFriSatSun
2526272829301
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
303112345