วช. และ HTAPC ร่วมกับ ANH Research Center ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในพื้นที่ภาคใต้

วช. และ HTAPC ร่วมกับ ANH Research Center ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในพื้นที่ภาคใต้


















วันที่ 6 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate, HTAPC) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ (Air Pollution and Health Effect Research Center, ANH Research Center) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดการประชุมสัมมนาระดับชาติ หัวข้อ “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ณ โรงแรมทวินโลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช และระบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom และ FB Live ทางเพจ Hub of Talents on Air Pollution and Climate - HTAPC ในการประชุมสัมมนาครั้งนี้ กล่าวเปิดงานโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และกล่าวต้อนรับโดย นายศรีธรรม ราชแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้น ผศ. ดร.สร้อยสุดา เกสรทอง คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดงาน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศไทย ปัญหามลพิษทางอากาศมีผลกระทบกับกลุ่มประชากรในช่วงเวลาที่เป็นปัญหา แต่องค์ความรู้ด้านคุณภาพอากาศ ความเข้าใจในสภาพปัญหา และกลไกการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กยังมีจำกัด การเตรียมการในลักษณะบูรณาการประสานศักยภาพการวิจัยบรรยากาศเพื่อประเมินสถานการณ์ปัญหาคุณภาพอากาศในภาคใต้แบบครบวงจรจึงเป็นประโยชน์กับพื้นที่ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับสภาวการณ์ ในหลายปีที่ผ่านมา แม้จะพบว่าพื้นที่ภาคใต้โดยทั่วไปมีระดับมลพิษ PM2.5 เฉลี่ยต่ำกว่าภาคอื่น แต่ก็มักจะประสบปัญหาหมอกควันข้ามแดน ซึ่งมีการเผาพื้นที่ป่าพรุจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายน - ตุลาคม ของทุกปี นอกจากนี้ในประเทศไทยการเผาป่าในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งซึ่งมีพื้นที่กว่า 165,000 ไร่ ครอบคลุมรอยต่อ 3 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา จัดว่าเป็นแหล่งกำเนิดหมอกควันในพื้นที่เช่นเดียวกัน
การสัมมนาช่วงแรกเป็นการไขข้อข้องใจปัญหามลพิษทางอากาศในภาคใต้ อะไร ที่ไหน เมื่อไร และผลกระทบ ต่อสุขภาพ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ธงชัย ขนาบแก้ว รองคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอประเด็นโดย ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) นายศักดิ์ดา ศิริกุลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 14 (สุราษฎร์ธานี) และ ผศ. ดร.นพ.ธรรมสินธ์ อิงวิยะ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ถัดมา ในช่วงที่สองเป็นการไขข้อข้องใจที่ 2 ในหัวข้อ ปัญหามลพิษทางอากาศ : การจัดการก่อนและหลัง? ดำเนินรายการโดย รศ. ดร.นริศรา นุธรรมโชติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอประเด็นโดยนายธนากร รักธรรม ผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) นายอนุพงศ์ อุ่นเรือน ผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สาขาปัตตานี) นายศิวฤกษ์ หนูฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ อุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช และนางอรอนงค์ เอี่ยมขำ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช
ในช่วงบ่ายมีการนำเสนอร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดย ดร.เกศศินี อุนะพำนัก ผู้อำนวยการส่วนมลพิษข้ามแดน กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ และสุดท้ายเป็นการรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อวางแผนวิจัยและการจัดการฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคใต้ โดย ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ วช. กล่าวปิดงานและจะนำข้อเสนอแนะที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ไปเป็นสรุปเป็นสมุดปกน้ำเงินเพื่อนำเสนอในเชิงนโยบายการวิจัยและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมต่อไป
Print
«December 2024»
MonTueWedThuFriSatSun
2526272829301
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
303112345