นักวิชาการไทย-จีน ร่วมแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการ กระชับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างชุมชนที่ยั่งยืน

นักวิชาการไทย-จีน ร่วมแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการ กระชับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างชุมชนที่ยั่งยืน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University) เปิดเวทีการสัมมนายุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างชุมชนที่ยั่งยืน” (Strategic Partnership to Jointly Build a Sustainable Community) ระหว่างวันที่ 12 -13 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมโนโวเทล มารีน่า ศรีราชา และเกาะสีชัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี  โดยการสัมมนาฯ มีผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน มีการนำเสนอผลงานวิจัยของนักวิชาการไทยและจีน จำนวน 23 บทความ ภายใต้ 3 หัวข้อย่อย ดังนี้

 

หัวข้อที่ 1. การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิตอลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Artificial Intelligence Development and Digital-Green Transformation) กล่าวถึง แนวทางและศักยภาพการเพิ่มคาร์บอนเครดิต ผ่านการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการปลูกข้าวโดยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล-สีเขียว การพัฒนาการใช้วัสดุจากธรรมชาติ นวัตกรรมอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ ความท้าทายของนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI

 

หัวข้อที่ 2. การพัฒนาการขนส่งผลผลิตสินค้าทางการเกษตรระหว่างประเทศไทย-จีน และภูมิภาคอาเซียน (Agricultural Products Shipping Technology between Thailand and China and ASEAN) โดยกล่าวถึงเทคโนโลยีการขนส่งผลิตภัณฑ์การเกษตรทางทะเล เทคโนโลยี Cold Chain เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันผลไม้เมืองร้อน ระบบโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าทางบกและทางทะเล การตรวจจับจุลินทรีย์ในสินค้าเกษตร การพัฒนาท่าเรือสีเขียว

 

หัวข้อที่ 3. การส่งเสริมการค้าและเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนภายใต้เส้นทางสายไหมทางทะเล (Regional Trade and Economy Promotion in ASEAN under Marine Silk Road) กล่าวถึง การนำเสนอผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ จากความร่วมมือในการส่งเสริมการค้าและเศรษฐกิจของอาเซียน ภายใต้เส้นทางสายไหมทางทะเล อันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของอาเซียนและจีน การต่อยอดความร่วมมือทางทะเลในการสร้างเส้นทางเชื่อมท่าเรือจีนกับท่าเรือในภูมิภาคอาเซียน โดยมีท่าเรือของไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญและเป็นศูนย์กลางการคมนาคม รวมถึงการพัฒนาบุคลากรไทยในบริบทของเส้นทางสายไหมทางทะเล

 

การสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน เป็นเวทีการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสนับสนุนการขยายความร่วมมือและโอกาสทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างสองประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และช่วยสนับสนุนการสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันบนเส้นทางสายมิตรภาพนี้ให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป

Print
Tags:
Rate this article:
No rating

Categories