มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ปีที่ 17 วช.จัดยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

  • 1 August 2022
  • Author: PMG
  • Number of views: 1321
มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ปีที่ 17 วช.จัดยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ปีที่ 17 วช.จัดยิ่งใหญ่
ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

           เริ่มแล้ว มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  2565 หรือ Thailand Research Expo 2022 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เพื่อแสดงถึงศักยภาพของงานวิจัยที่เป็นกลไกสำคัญในการช่วยแก้ไขและพัฒนาประเทศ ถือเป็นเวทีระดับชาติที่จะนำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์และพัฒนาประเทศทั้งในเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน พาณิชย์ และอุตสาหกรรม ที่คัดสรรผลงานวิจัยและนวัตกรรม กว่า 700 ผลงาน ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และคนรุ่นใหม่ได้ใกล้ชิดกับผลงานวิจัยที่ใช้ได้จริง จัดขึ้นเป็นปีที่ 17 ระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 22 และ 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
         ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมกับเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ” เป็นปีที่ 17 โดยนำเสนอผลงานนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาวิชราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  รวมถึงนิทรรศการ การนำเสนอข้อมูลและผลงานจากเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ โดยรวมนิทรรศการศาสตร์และศิลป์งานวิจัย และ นิทรรศการชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม นิทรรศการการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา นิทรรศการนำเสนอบทความผลงานวิจัย Thailand Research Expo & Symposium 2022 ครอบคลุมประเด็นสำคัญ 5 ธีมในการนำเสนอผลงาน ที่ประกอบด้วย 1.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 3.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) 4.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต  และ5.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์เชิงการพัฒนาพื้นที่  และการจัดประชุมสัมมนาออนไลน์กว่า 150 หัวข้อ นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดให้มีการมอบสุดยอดผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ Platinum Award ซึ่งจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน เป็นทศวรรษของรางวัลอันทรงเกียรติ อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ จึงจัดให้มีนิทรรศการชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมเวที Hilight Stage และ Mini Mini Stage Research Expo Talk  เป็นเวทีหลักที่ใช้เทคนิคการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความพร้อมใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน/องค์กร/พาณิชย์ ที่มีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย โดยการกำหนดประเด็นเฉพาะและมีพิธีกรมืออาชีพเป็นผู้ดำเนินการ โดยการนำเสนอในรูปแบบของการถอดบทเรียนความสำเร็จ การถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิค และวิธีการในการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดและนำไปใช้ประโยชน์แก่ชุมชน หรือประชาชนผู้สนใจ และกิจกรรมในภาคการประชุมยังมีหัวข้อที่หลากหลายทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
         ภาคนิทรรศการ มีการนำเสนอผลงานวิจัยกว่า 700 ผลงาน ที่ประกอบด้วย โรงเรือนอัจฉริยะควบคุมสภาวะอากาศอัตโนมัติสำหรับการผลิตสตรอว์เบอร์รี่ ของกรมวิชาการเกษตร ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีสารสกัดสเต็มเซลล์จากพืชสมุนไพรที่กักเก็บรูปแบบไมโคร ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี การผลิตโคเนื้อคุณภาพเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรจังหวัดพะเยา ของมหาวิทยาลัยพะเยา เทคนิคการประเมินความไม่แน่นอนในการวัดสำหรับการสอบเทียบเครื่องวัดระยะด้วยเลเซอร์ชั้นสูง ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ผลิตภัณฑ์เยลลี่กัมมีเฉาก๊วย ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร การพัฒนาตลาดดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้าและบริการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเลย ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดเลย เครื่องจักรมีชีวิต ผู้พิชิตขยะอินทรีย์ ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผลของการบำบัดด้วยการแก้ปัญหาต่อภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยติดสารแอมเฟตามีน ของกรมสุขภาพจิต การพัฒนาเกมบนโมบายแอปพลิเคชันสำหรับการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาและการสื่อสารในเด็กออทิสติก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โมเดลการฟื้นฟูป่า มิติสู่ความยั่งยืน ของกรมป่าไม้ อุปกรณ์แจ้งเตือนไฟฟ้าดับอัตโนมัติ ของการไฟฟ้านครหลวง พื้นที่บริหารจัดการน้ำต้นแบบโดยชุมชนของอ่างเก็บน้ำชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน ของกรมชลประทาน รถบังคับขนส่งเวชภัณฑ์ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก การประเมินประสิทธิศักย์ของการใช้หน้ากากแบบต่าง ๆ ในการป้องกันละอองน้ำลายจากปากและจมูกออกสู่สิ่งแวดล้อม ของกรมควบคุมโรค การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการวิจัยและพัฒนาหน้ากากผ้าเพื่อทดแทนหน้ากากทางการแพทย์ ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) นวัตกรรมเวชภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากมะแขว่นและน้ำมันหอมระเหยมะแขว่น ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ การยกระดับการผลิตโคเนื้อโคขุนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สารชีวภัณฑ์ วว. ยกระดับผลผลิตการเกษตร พัฒนาเชิงพื้นที่ด้วย วทน. ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การออกแบบลายผ้ามัดย้อมและพัฒนแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก เพื่อสร้างอัตลักษณ์กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส​ และไก่เบตง ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นต้น
      พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัยขายได้  ซึ่งมีผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยที่ขายได้จริง ผลงานวิจัยที่เป็นผลสำเร็จจากหน่วยงานในระบบวิจัยทั่วประเทศ (PMU) และผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. และใช้ประโยชน์ เป็นเวทีที่เผยแพร่การดำเนินงานของ วช. ในการสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่น ของ วช. ภายในงานมหกรรม งานวิจัยแห่งชาติ 2565 เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย ผู้ที่สนใจ หรือประชาชนทั่วไปได้รับรู้ ในการดำเนินงาน ของ วช. ด้านการส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้มี ความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไปได้ ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการประชาสัมพันธ์และ เผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ ต่อไป โดยมีผลงานที่มานำเสนอกว่า 50 ผลงาน ใน 6 ด้าน
             ภาคการประชุม มีการเปิดเวทีภาคการประชุม ในหัวข้อที่น่าสนใจ กว่า 150 หัวข้อ ที่ประกอบด้วย การประชุมขนาดใหญ่ 1,000 คน การประชุมขนาดกลาง 500 คน และการประชุมกลุ่มเฉพาะเรื่อง 50 คน
            ขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานระหว่างวันที่ 1 - 5 สิงหาคม 2565 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th แบบ Online ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 579 1370-9 ต่อ 515, 517, 518, 519 และ 524 ติดตามข้อมูลข่าวสารการจัดงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th  fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
Print
Tags:
Rate this article:
3.5

Categories