วช. จับมือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดอบรม จริยธรรมและมาตรฐานการวิจัย

วช. จับมือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดอบรม จริยธรรมและมาตรฐานการวิจัย

วันที่ 14 มกราคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดอบรมจริยธรรมและมาตรฐานการวิจัย “โมดูลที่ 1 พื้นฐานจริยธรรมการวิจัย” ภายใต้ โครงการยกระดับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม: จริยธรรมและมาตรฐานการวิจัย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 15 มกราคม 2568 ณ หอดนตรีและการแสดงอโศกมนตรี 1 ชั้น 4 อาคารนวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการอบรม และ รองศาสตราจารย์ ดร.วัลยา ธเนศพงศ์ธรรม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวต้อนรับ

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยของบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้นักวิจัยมีสมรรถนะในการพัฒนางานวิจัยในระดับที่สูงขึ้น สร้างผลงานวิจัยที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ รวมถึงการส่งเสริม และสนับสนุนให้นักวิจัยนำมาตรฐานการวิจัยทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ไปใช้ในกระบวนการวิจัย เช่น มาตรฐานการวิจัยในคน มาตรฐานการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ มาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ มาตรฐานจริยธรรมสำหรับผู้ประเมินโครงการวิจัย ผลงานวิชาการและผลงานวิจัย มาตรฐานการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ รวมทั้งจริยธรรมนักวิจัย เป็นต้น โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม นักวิจัยรุ่นเยาว์ นักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง ให้มีการพัฒนาสมรรถนะและมาตรฐานการวิจัยให้เป็นนักวิจัยที่มีศักยภาพริเริ่มโครงการใหม่ ทำงานวิจัยและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ในฐานะนักวิจัยอาชีพที่มีจริยธรรมการวิจัยให้เป็นผู้นำในทางวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ให้มีทักษะสูง โดย วช. ให้การสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมุ่งเน้นให้นักวิจัย มีความรู้ ความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้หลักจรรยาวิชาชีพนักวิจัย กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมการวิจัยและมาตรฐานการวิจัย ประกอบด้วยโมดูลที่ 1 พื้นฐานจริยธรรมการวิจัย ได้แก่ จรรยาวิชาชีพนักวิจัย กฎหมายและกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมการวิจัย จริยธรรมการวิจัยและปัญญาประดิษฐ์ จริยธรรมการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ โมดูลที่ 2 มาตรฐานการวิจัยในมนุษย์ และโมดูลที่ 3 มาตรฐานการวิจัยเฉพาะด้าน ทั้งในส่วนมาตรฐานการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ และมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการด้านสารเคมี ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ เป็นการอบรมใน โมดูลที่ 1 พื้นฐานจริยธรรมการวิจัย ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัยรัตน์ ฉายากุล บรรยาย เรื่อง “จรรยาวิชาชีพนักวิจัย” รองศาสตราจารย์ ดร.อาภาพร เผ่าวัฒนา บรรยาย เรื่อง “จริยธรรมการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ” และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.ชูศักดิ์ โอกาสเจริญ การบรรยาย เรื่อง “กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมการวิจัย” และ “จริยธรรมการวิจัยและปัญญาประดิษฐ์”โดยการอบรมครั้งนี้ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของ วช. ในการส่งเสริมและกำกับดูแลมาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัยของประเทศ

 

นางสาวพนารัตน์ พนัสจุฑาบูลย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานให้ความรู้และวิเคราะห์ข้อมูลมาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัย พร้อมด้วย นายศิริชัย ทิวะศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มงานจัดทำและพัฒนามาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัย ได้กล่าวถึงในประเด็นหัวข้อ เรื่อง "บทบาทของ วช. : การส่งเสริมและกำกับดูแลมาตรฐานการวิจัยและจริยธรรรมการวิจัยของประเทศ ว่า ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 เป็น มาตรฐานการวิจัย ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ และคุณภาพที่พึงประสงค์ของการวิจัยและนวัตกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้น ในทุกกระบวนของการวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้รวมถึงจริยธรรมที่นักวิจัยพึงปฏิบัติ นอกจากนี้ จริยธรรมการวิจัยยังถือเป็นหัวใจสำคัญที่นักวิจัยต้องยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้การวิจัยเป็นไปอย่างโปร่งใส สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักวิจัย ในการดำเนินการยื่นขอทุนวิจัย สามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ www.nriis.go.th และ ขั้นตอนการยื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้-ผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ผ่านระบบ www.thaiiacuc.nrct.go.th ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการสนับสนุนการวิจัยของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมและมาตรฐานการวิจัย

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วัลยา ธเนศพงศ์ธรรม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การอบรมจริยธรรมและมาตรฐานการวิจัย “โมดูลที่ 1 พื้นฐานจริยธรรมการวิจัย” ภายใต้ โครงการยกระดับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม: จริยธรรมและมาตรฐานการวิจัย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักวิจัยรวมกัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมในหัวข้อ “โมดูลที่ 1 พื้นฐานจริยธรรมการวิจัย” ภายใต้โครงการยกระดับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม: จริยธรรมและมาตรฐานการวิจัย ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกด้านจริยธรรมในการทำวิจัยให้กับผู้เข้าร่วมอบรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และสร้างความมั่นคงในการพัฒนางานวิจัยอย่างยั่งยืนต่อไป

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัยรัตน์ ฉายากุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงในประเด็นหัวข้อเรื่อง "จรรยาวิชาชีพนักวิจัย" ว่า จรรยาวิชาชีพนักวิจัยถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ที่มีคุณค่าและยั่งยืน นักวิจัยจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการสำคัญ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความถูกต้อง ความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือ และความรับผิดชอบในทุกกระบวนการของการวิจัย หากแต่เป็นจิตสำนึกที่นักวิจัยต้องปลูกฝังและธำรงรักษาไว้ โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้กำหนด หลักจรรยาบรรณนักวิจัย ไว้ทั้งหมด 10 ข้อ ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมและดาวน์โหลดคู่มือจรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติได้ที่เว็บไซต์ www.nrct.go.th ทั้งนี้ หลักจรรยาบรรณนักวิจัยทั้ง 10 ข้อ ถือเป็นกรอบการปฏิบัติที่สำคัญในการรักษามาตรฐานงานวิจัยของหน่วยงาน เพื่อให้ผลงานวิจัยของหน่วยงานและนักวิจัยได้รับการยอมรับจากประชาคมวิจัยทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

 

รองศาสตราจารย์ ดร. อาภาพร เผ่าวัฒนา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงในประเด็นหัวข้อเรื่อง “จริยธรรมการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ” ว่า จริยธรรมในการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการถือเป็นหลักการสำคัญที่นักวิจัยและนักวิชาการทุกคนต้องตระหนักถึงอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของผลงาน อันเป็นรากฐานของการพัฒนาความรู้ที่มีคุณภาพและยั่งยืน การปฏิบัติตามจริยธรรมดังกล่าวครอบคลุมถึงการอ้างอิงผลงานผู้อื่นอย่างถูกต้อง การหลีกเลี่ยงการคัดลอกหรือดัดแปลงผลงานโดยไม่ได้รับอนุญาต การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส รวมถึงการระบุชื่อผู้มีส่วนร่วมในงานวิจัยอย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการเผยแพร่ผลงานวิจัยสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและวงการวิชาการอย่างแท้จริง

 

การอบรมจริยธรรมและมาตรฐานการวิจัย “โมดูลที่ 1 พื้นฐานจริยธรรมการวิจัย” ภายใต้ โครงการยกระดับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม: จริยธรรมและมาตรฐานการวิจัย ได้รับความสนใจจากบุคลากรด้านการวิจัยจากหลากหลายสถาบันทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมสนใจเข้าร่วมในครั้งนี้จำนวน 250 คน ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับใบรับรอง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อการสร้างเครือข่ายนักวิจัยที่มีคุณธรรมและปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในการดำเนินงานวิจัย อันจะช่วยพัฒนาวงการวิจัยของไทยให้เข้มแข็งและก้าวหน้าในระดับนานาชาติต่อไป

Print
Tags:
Rate this article:
No rating

Categories